- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและยืนที่ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปีครึ่ง หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ออกมาดีเกินคาด โดยปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 295,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 240,000 ตำแหน่ง
- ประกอบกับอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับแต่เดือน พ.ค. 51 ที่ระดับ 5.5% จากเดิมที่อยู่ที่ 5.7% เมื่อเดือน ม.ค. และกระแสข่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. นี้ ล้วนส่งผลให้ทั้งตลาดน้ำมันและตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาต่างก็ปรับตัวลดลง โดยตลาดคาดว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ จะเป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก
- /+ ขณะที่ตัวเลขหลุมขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่รายงานเป็นประจำทุกวันศุกร์ ล่าสุดรายงานว่าปรับลดลง 64 หลุม มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับแต่เดือน เม.ย. 54 ที่ 922 หลุม ซึ่งหากนับจากจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่อยู่ที่ระดับสูงสุดในประวัติกาลเมื่อเดือน ต.ค. 57 ที่ 1,609 หลุม ก็ถือว่าปรับลดลงมาแล้วกว่า 40% อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขหลุมขุดเจาะในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะลดมากกว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน ถึง 2 เท่า แต่ก็ยังถือว่าลดลงน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงมากถึง 80 หลุม
-/+ ความไม่สงบในลิเบียที่ส่งผลให้ลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันไปแล้วกว่า 11 แห่ง เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุดกำลังผลิตน้ำมันของลิเบียลดลงมาอยู่ที่ราว 400,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับความวุ่นวายในอิรักที่ยังคงยืดเยื้อล้วนส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันดิบ แต่การเจรจายุติปัญหานิวเคลียร์อิหร่านที่ยังคงดำเนินต่อไปและยังมีโอกาสจะตกลงกันได้อาจส่งผลให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มมากขึ้นอีกครั้งท่ามกลางอุปทานน้ำมันโลกที่ยังอยู่ในภาวะล้นตลาดอย่างในปัจจุบัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตัวเลขน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และแรงซื้อจากอินเดียที่เข้ามาในตลาดในช่วงก่อนที่โรงกลั่นในอินเดียจะปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค. - เม.ย. นี้
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นใหม่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ โรงกลั่น Ruwais เตรียมส่งออกน้ำมันดีเซลเป็นครั้งที่ 2 ไปยังบราซิลซึ่งมีความต้องการใช้สูงในขณะนี้ อย่างไรก็ดีแรงซื้อในภูมิภาคจากเวียดนามและออสเตรเลียส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงไม่มากนัก
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการตอบรับของตลาดต่อมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของ ECB ที่จะเริ่มอัดฉีดเงินมูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านยูโร (1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือราว 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในวันที่ 9 มี.ค. นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาและรับมือกับภาวะเงินฝืดในยูโรโซน โดย ECB จะดำเนินมาตรการ QE นี้ไปจนถึงเดือน ก.ย. 2559 เป็นอย่างน้อย
ท่าทีของนักลงทุนต่อกระแสข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการประชุมของธนาคารกลางฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ ว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% หรือจะปรับเพิ่มขึ้นจริงตามข่าว
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก่อนจะถึงเส้นตายของการวางกรอบการตกลงในช่วงปลายเดือน มี.ค. นี้ เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 ซึ่งหากการเจรจาสำเร็จอาจส่งผลให้อิหร่านส่งออกไดเพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในตอนนี้
ยูโรโซนอนุมัติให้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซออกไปอีก 4 เดือน โดยล่าสุดรัฐบาลกรีซกำลังร่างแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมเสนอต่อยูโรโซน และ IMF ผู้เป็นเจ้าหนี้ ตามเงื่อนไขข้อตกลงก่อนขยายเงินกู้ หากแผนผ่านการเห็นชอบ กรีซจะได้รับเงินกู้งวดใหม่สูงถึง 7,200 ล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้กรีซมีเงินในการชำระหนี้ และใช้จ่ายในการบริหารประเทศในระยะยาว
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันศุกร์จีดีพียูโรโซน - Q4/14
รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - ก.พ.
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ก.พ.
วันอังคารดัชนีราคาผู้บริโภคจีน - ก.พ.
ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน - ก.พ.
วันพฤหัสบดีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน - ม.ค.
ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - ก.พ.
วันศุกร์ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ - ก.พ.
ความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.
ข่าวเด่น