(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 16.19 น.ของวันที่ 09/03/15)
แนวโน้มวันที่ 10 มีนาคม 2558
ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐของเดือนกุมภาพันธ์ออกมาสดใสหนุนดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบ 11 ปีครึ่ง ได้เป็นแรงกดดันให้มีการขายทองคำออกมา โดยราคาทองคำได้ดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราการว่างงานที่ดิ่งลง 0.2 % สู่ 5.5 % ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2008 ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 295,000 ตำแหน่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายรายมองว่าภาคการจ้างงานมีทิศทางแข็งแกร่งมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ซึ่งเร็วกว่าที่ประเมินไว้ว่าเป็นช่วงปลายปี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภายหลังจะมีแรงซื้อเก็งกำไรระยะสั้นให้ราคาดีดตัวขึ้นในลักษณะ Technical Rebound ได้บ้างก็ยังคงมีแรงขายออกมา เนื่องจากราคาทองคำยังขาดปัจจัยบวกที่แข็งแกร่งมากพอที่จะส่งให้ราคาขยับขึ้นไปได้ไกล ขณะที่ตลาดทองคำได้รับผลกระทบจากข้อมูลที่ระบุว่า การนำเข้าของจีนร่วงลงได้เพิ่มความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจจีน อาจจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยการนำเข้าในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ร่วงลงถึง 20.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับธนาคารบางแห่งกำลังคุมเข้มหลักเกณฑ์การปล่อยกู้แก่รัฐวิสาหกิจ (SOE) ของจีน ซึ่งทางธนาคารเริ่มเรียกร้องหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมจากบริษัทบางแห่งที่มองว่าไม่ปลอดภัยมากเป็นเท่าตัวกว่า และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ทองคำอันดับต้นๆ โลกอยู่ในภาวะอ่อนแออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงจับตาข้อมูลของจีนทั้ง ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รวมถึง ผลผลิตอุตสาหกรรมของเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง ในเบื้องต้นประเมินแนวต้านบริเวณ 1,183-1,190 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถยืนได้อาจเกิดการอ่อนตัวลงอีกครั้ง โดยมีแนวรับบริเวณ 1,153-1,148 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า นักลงทุนสามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อขายในระยะสั้น จากการแกว่งตัวของราคาทองคำ เมื่อราคาย่อลงมาไม่หลุดแนวรับและเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้นทยอยขายบางส่วน แล้วรอ โดยรอจังหวะเข้าซื้อหากราคาย่อตัวลงมาโดยไม่หลุดแนวรับบริเวณ 1,153 หรือ 1,148 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และให้ขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวหรือบริเวณแนวต้าน 1,183 หรือ 1,190 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ให้ขายตัดขาดทุนหากราคาหลุดโซน 1,148 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อลดความเสียหายของพอร์ตการลงทุน
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,153 (17,730บาท) 1,148 (17,660บาท) 1,133 (17,420บาท)
แนวต้าน 1,183 (18,200บาท) 1,190 (18,310บาท) 1,200 (18,460บาท)
GOLD FUTURES (GFJ15)
แนวรับ 1,153 (17,940บาท) 1,148 (17,860บาท) 1,133 (17,630บาท)
แนวต้าน 1,183 (18,400บาท) 1,190 (18,510บาท) 1,200 (18,660บาท)
ข่าวเด่น