- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลด 10% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงประมาณ 8% สาเหตุหลักเนื่องมาจากค่าเงินสหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นด้วย
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบค่าเงินยูโร แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 12 ปี เนื่องจากมีแรงซื้อเงินดอลลาร์มาก หลังคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกาศออกมาน้อยกว่าคาด โดยดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.พ. หดตัว 0.5% เและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน มี.ค ปรับตัวลดลง 4.2 จุด มาที่ 91.2 จุด
- IEA รายงานสถานการณ์อุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณปรับตัวลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนถังเก็บน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ไม่เพียงพอในระยะใกล้นี้ โดยมองว่าสถานการณ์น้ำมันดิบล้นตลาดจะยาวไปถึงช่วงกลางปี 58 นอกจากนี้ IEA รายงานปริมาณความต้องการน้ำมันดิบจากกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันดิบ (โอเปก) เดือน ก.พ. 58 ที่ 28.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปกที่ 30.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านลดลง โดยล่าสุดตลาดคาดว่าอิหร่านและชาติมหาอำนาจจะมีการเจรจาและทำสัญญากันบางส่วนในเดือน มี.ค. นี้ และจะบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ในเดือน มิ.ย. 58 ซึ่งหากเป็นดังคาด จะส่งผลให้อิหร่านสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้น
+/- Baker hughes รายงานปริมาณแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ปรับตัวลดลง 56 แห่ง เหลือเพียง 866 แห่ง ซึ่งนับเป็นการลดลงมากสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.54 โดยจำนวนแหล่งขุดเจาะนี้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง 14 สัปดาห์ ซึ่งหากเทียบกับจำนวนแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ทำระดับสูงสุดที่ 1,609 แห่ง ในเดือน ต.ค. 57 จำนวนแหล่งขุดเจาะลดลงกว่า 40% อย่างไรก็ดี ปัจจัยนี้ยังไม่สามารถผลักให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากโอเปก และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปิดซ่อมบำรุงตามแผน และการประท้วงของสหภาพโรงกลั่น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่เบาบาง และอุปทานจากอินเดียที่เพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงฉุกเฉินในวันเสาร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเบาคงคลังที่สิงคโปร์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาที่ 12.1 ล้านบาร์เรล โดยตลาดมองว่าราคาน้ำมันเบนซินอาจปรับเพิ่ม หลังอุปทานอาจตึงตัวในช่วงการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาลของโรงกลั่นในภูมิภาค
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปชนิดกลางที่สิงคโปร์ปรับเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 9% จากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ดีตลาดมองว่าราคาน้ำมันดีเซลอาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล ในไตรมาส 2 ประกอบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากเวียดนาม ศรีลังกา และอินโดนีเซีย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดหรือไม่ หลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ (nonfarm payroll) เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 295,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 240,000 ตำแหน่ง ประกอบกับอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 51 ที่ระดับ 5.5% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 5.7% เมื่อเดือน ม.ค. หาก FED ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงได้
สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบียยังคงปะทุต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันกว่า 11 แห่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดลิเบียได้ปิดบ่อนํ้ามันอีก 2 บ่อ คือ Zella และ Fida ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังถูกโจมตีโดยกองกำลังของกลุ่มกบฏ โดยคาดว่ากำลังการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี สงครามกลางเมืองของลิเบียยังคงไม่สามารถหาทางออกได้ โดยล่าสุดรัฐสภาลิเบียได้ร้องขอให้สหประชาชาติ (UN) เลื่อนการเจรจาสันติภาพออกไปอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการหารือเกี่ยวกับแผนแม่บทของรัฐบาลชุดต่อไป
อุปสงค์นํ้ามันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นทั่วโลกได้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปี ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสบดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน - ม.ค.
ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - ก.พ.
วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ - ก.พ.
ความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.
วันจันทร์ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ - ก.พ.
วันอังคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (YoY) - ก.พ.
ตัวเลขการจ้างงานยูโรโซน (YoY) - Q4
วันพุธ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยจีน - ก.พ.
อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ
วันพฤหัสบดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ - 13 มี.ค.
วันศุกร์ ดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC PMI) - มี.ค.
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน - ก.พ.
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ - ก.พ.
ข่าวเด่น