+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปิดตลาดเพิ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดน้ำมันเวสต์เท็กซัสถือว่าไม่คึกคักมากนักเพราะนักลงทุนยังชะลอซื้อเนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดสัญญาซื้อ-ขายสำหรับเดือน เม.ย. (สัญญาเดือน พ.ค. ปิดตลาดที่ 46.57 เหรียญสหรัฐฯ)
+ นอกจากนั้น ค่าเงินยูโรโซนเองก็แข็งค่าขึ้นด้วยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังแถลงการณ์จากที่ประชุมพิเศษร่วมระหว่างผู้นำกรีซ และสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ส่งสัญญาณว่านางแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี พร้อมให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกรีซ หากรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนอนุมัติรายละเอียดของมาตรการปฏิรูปกรีซ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราสของกรีซ เตรียมเดินทางเยือนเยอรมนีเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 23 มี.ค. นี้ เพื่อหารือแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกรีซต่อไป
+/- การเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในกรณีนิวเคีย์อิหร่านยุติลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ไร้ข้อสรุป ยังคงส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากตลาดมองว่าการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะยังคงถูกคว่ำบาตรและส่งออกได้เพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม จะมีการกลับมาเจรจาเรื่องนี้กันอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์นี้ เพื่อวางกรอบการเจรจาให้ได้ภายในวันที่ 31 มี.ค. และเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 30 มิ.ย. นี้
+ /- ตัวเลขหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่รายงานโดย Baker Hughes ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วปรับลดลง 41 หลุม มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ที่ 825 หลุม อย่างไรก็ตาม จำนวนหลุมที่ลดลงถือว่าชะลอตัวลงกว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เองก็ยังยืนที่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี อย่างต่อเนื่องด้วย
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอินโดนีเซียวางแผนจะนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มมากขึ้นในเดือน เม.ย. - พ.ค. ขณะที่มีแรงซื้อจากประเทศในแถบแอฟริกาเข้ามาหนุนด้วย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ล่าสุดยังคงปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงมีแรงซื้อจากผู้เล่นหลักในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงแรงซื้อจากแอฟริกาเข้ามาในตลาดด้วย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ที่กำลังเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มี.ค. นี้ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องบรรลุกรอบความตกลง และได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ทั้งนี้สหรัฐฯ และกลุ่มชาติมหาอำนาจ ได้ยื่นข้อเสนอให้อิหร่านยอมรับเงื่อนไขการควบคุมโครงการนิวเคลียร์เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร
การประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/57 ของสหรัฐฯ ที่จะเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าตัวเลขที่ออกมาน่าจะมีทิศทางที่ค่อนข้างดี หลังตัวเลขภาคแรงงานในเดือนที่ผ่านมาออกมาดีเกินคาด
อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน มี.ค. นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันศุกร์ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ - ก.พ.
วันจันทร์ ความเชื่อมันผู้บริโภคยูโรโซน - มี.ค.
วันอังคาร ดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC PMI) - มี.ค.
ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit flash PMI) - มี.ค.
ดัชนีภาคบริการยูโรโซน (Markit Services flash PMI) - มี.ค.
ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (YoY) - ก.พ.
ความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) - มี.ค.
วันศุกร์ จีดีพีไตรมาส 4/57 สหรัฐฯ
ข่าวเด่น