ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังปริมาณอุปทานน้ำมันดิบอาจเพิ่มขึ้น จากผลการเจรจาปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับลดลงประมาณ 5% เนื่องจากคาดว่าปัญหาในประเทศเยเมนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง โดยปัจจัยหลักที่นักลงทุนจับตามองคือการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งหากปัญหานี้ยุติลงจะส่งผลให้ปริมาณอุปทานน้ำมันดิบในตลาดเพิ่มสูงขึ้น 

- ราคาน้ำมันดิบได้ปรับเพิ่มขึ้นในวันก่อนเนื่องจากความกังวลว่าเหตุการณ์โจมตีของประเทศซาอุดิอาระเบียและสมาชิกกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับต่อกลุ่มกบฎฮูตี ชาวชีอะห์ ในประเทศเยเมนจาก อาจเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติในตะวันออกกลาง และอาจทำให้อ่าวเอเดนถูกปิดลง ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งน้ำมันดิบ ทำให้อุปทานอาจหายไปคิดเป็นประมาณ 20% ของอุปสงค์โลก อย่างไรก็ดี ตลาดประเมินว่าความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะได้รับผลกระทบเหตุการณ์นี้เป็นได้น้อยมาก เพราะว่าแม้เยเมนจะมีปัญหาที่เกือบจะพัฒนาเป็นสงครามกลางเมืองในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่ช่องแคบ Bab el-Mandeb ในอ่าวเอเดนก็ไม่เคยถูกปิด เนื่องจากมีฐานกองเรือของสหรัฐฯขนาดใหญ่ในประเทศจิบูตี 

-  การเจรจาเรื่องปัญหานิวเคลียร์ระหว่างประเทศอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้ง 6  ก่อนที่จะบรรลุข้อตกลงขั้นแรกในวันที่ 31 มี.ค. นี้ อาจส่งผลให้ชาติมหาอำนาจหยุดการแทรกแซงการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณอุปทานในตลาดปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแทรกแซงจำกัดอิหร่านให้ส่งออกน้ำมันดิบได้เพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยส่งออกน้ำมันดิบที่ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2555 

- แม้ว่าประเทศลิเบียจะประสบปัญหาการสู้รบภายในประเทศจากกการแย่งชิงอำนาจของรัฐบาลสองฝ่าย แต่ปริมาณการผลิตของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.5 บาร์เรลต่อวัน มาที่ 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน  อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตในปัจจุบันยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยผลิตก่อนปี 2554 

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่จำกัดจากการที่โรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ปิดซ่อมบำรุง ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลว่าปริมาณน้ำมันเบนซินอาจมีไม่เพียงพอสำหรับอุปสงค์ในตลาดจร นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเบาคงคลังที่สิงคโปร์ปรับลดลงเกือบ 5% จากสับดาห์ก่อน มาที่ 12.19 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในปีนี้

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์สนับสนุนจากปากีสถาน แอฟริกา ศรีลังกา และเวียดนาม ประกอบกับอุปทานที่ตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุง ของโรงกลั่น นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปชนิดกลางคงคลังที่สิงคโปร์ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน 

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 56-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาปัญหาการสู้รบในเยเมนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูติเพื่อช่วยเหลือนายอาเบด รับโบ มานซูร์ ฮาดี ประธานาธิบดีเยเมนในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าการสู้รบนี้จะขยายวงกว้างและอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในภูมิภาคได้ และล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในด้านการขนส่งและข่าวกรองทางทหาร

จับตาเศรษฐกิจกรีซและยูโรโซนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าการขาดแคลนสภาพคล่องของรัฐบาลกรีซอาจจะนำไปสู่ การผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 460 ล้านยูโร หรือ 502.5 ล้าน ให้กับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงต้นเม.ย. นี้ โดยรัฐบาลกรีซจะต้องเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภายในในวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. นี้

จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ว่าจะสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงได้หรือไม่ โดยทุกฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงขั้นแรกภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และต้องบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58  โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ดังนั้นหากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง 

อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน เม.ย. และ พ.ค. นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันศุกร์ จีดีพีไตรมาส 4/57 สหรัฐฯ 

วันจันทร์ ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน - ก.พ.

ดัชนีราคาผู้ผลิตยูโรโซน - ก.พ.

ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM PMI) - ก.พ.

วันอังคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน - ม.ค.

ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) - ก.พ.

วันพุธ ยอดค้าปลีกยูโรโซน - ม.ค.

วันศุกร์ จีดีพี Q4/14 ยูโรโซน 

รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - ก.พ.

อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - ก.พ.


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 มี.ค. 2558 เวลา : 10:21:06

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:16 am