+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ ประกาศถึงกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมของประเทศว่าปรับลดลงครั้งแรกนับแต่เดือน ม.ค. 2558 ที่ผ่านมาราวร้อยละ 0.4 มาอยู่ที่ระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนาย Andrew Lipow ประธานบริษัท Houston-based Lipow Oil เล็งเห็นว่าการปรับลดลงของกำลังการผลิตตามจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามเดือนนั้นจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในระยะยาวต่อไป แม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 471.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์รอยเตอร์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 4.2 ล้านบาร์เรล
+ การเจรจาปัญหานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้ง 6 ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยังคงยืดเยื้อหลังทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ นาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และ นาย Walter Steinmeier รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ประกาศว่าการประชุมจะต้องยุติภายในวันพฤหัสที่ 2 เม.ย. แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าการเจรจาจะจบลงแบบไม่มีความคืบหน้า และแม้ว่าจะสามารถตกลงกันได้ในระดับเบื้องต้น ก็มิอาจรับรองได้ว่าข้อตกลงจะไม่ยุติลงในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดีอิหร่านยังคงยืนกรานที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่อไปเพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาด และต้องการให้การคว่ำบาตรยุติลง เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว หลังส่งออกน้ำมันได้เพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่ปี 2555 อิหร่านมีปริมาณน้ำมันดิบคงคลังราว 30 ล้านบาร์เรลที่นำไปเก็บไว้ในเรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาดใหญ่ (VLCC) ของบริษัท NITC และบางส่วนที่ไม่ทราบปริมาณแน่ชัดที่ถูกเก็บไว้ในประเทศจีน หากอิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบโลกได้
- ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 2558 ปรับลดลงจากระดับ 52.9 จุด มาอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ต่ำกว่าที่คาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาปิดที่ 52.5 จุด สาเหตุหลักมาจากกิจกรรมการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงราวร้อยละ 7 มาอยู่ที่ระดับ 51.8 ต่ำสุดนับตั้งแต่ เม.ษ. 2556
+ สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เผยว่าดัชนีภาคการผลิตจีน - มี.ค. ฟื้นตัวเล็กน้อยมาแตะระดับ 50.1 จุด แม้ว่าดัชนีภาคบริการจีน - มี.ค. จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 53.7 จุด อย่างไรก็ดีดัชนีทั้งสองยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 จุดอันบ่งบอกถึงการขยายตัวของทั้งภาค การผลิตและภาคบริการ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ดีตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นภายในภูมิภาคเอเชีย ประกอบกับกำลังการผลิตที่ลดลงของประเทศญี่ปุ่นหลังสถาบันการปิโตรเลียมประจำประเทศญี่ปุ่นรายงานถึงกำลังการผลิตน้ำมันบนซินรวมของประเทศสิ้นสุด ณ วันที่ 28 มี.ค. ที่ปรับลดลงร้อยละ 5.6 มาอยู่ที่ระดับ 6.41 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงหนุนของอุปสงค์น้ำมันดีเซลที่ดีภายในภูมิภาค ประกอบกับอุปทานที่ตึงตัว หลังโรงกลั่นน้ำมันเอเชียตะวันเฉียงเหนือ ออสเตรเลียและอินเดียหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ดีอุปทานของตะวันออกลางยังมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมัน Ruwais ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาปัญหาการสู้รบในเยเมนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูติเพื่อช่วยเหลือนายอาเบด รับโบ มานซูร์ ฮาดี ประธานาธิบดีเยเมนในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าการสู้รบนี้จะขยายวงกว้างและอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในภูมิภาคได้ และล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในด้านการขนส่งและข่าวกรองทางทหาร
จับตาเศรษฐกิจกรีซและยูโรโซนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าการขาดแคลนสภาพคล่องของรัฐบาลกรีซอาจจะนำไปสู่ การผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 460 ล้านยูโร หรือ 502.5 ล้าน ให้กับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงต้นเม.ย. นี้ โดยรัฐบาลกรีซจะต้องเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภายในในวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. นี้
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ว่าจะสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงได้หรือไม่ โดยทุกฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงขั้นแรกภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และต้องบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ดังนั้นหากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง
อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน เม.ย. และ พ.ค. นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันอังคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน - มี.ค.
อัตราการว่างงานยูโรโซน - ก.พ.
ความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.
วันพุธ ดัชนีภาคการผลิตจีน - มี.ค.
ดัชนีภาคบริการจีน - มี.ค.
ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ - มี.ค.
วันศุกร์ รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - มี.ค.
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - มี.ค.
ข่าวเด่น