- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง ร้อยละ 3.8 และ ร้อยละ 1.9 ตามลำดับ หลังจากที่มีการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจ ที่ได้มีการเจรจากันมานานกว่า 1 สัปดาห์ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากข้อตกลงเบื้องต้นนี้ อิหร่านต้องปิดโรงงานผลิตยูเรเนียมมากกว่าสองในสาม นอกจากนี้อิหร่านยังต้องรื้อถอนเตาปฏิกรณ์ที่อาจจะใช้สำหรับผลิตยูเรเนียมและยอมรับการตรวจสอบจากต่างชาติพร้อมทั้งจำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม (Uranium Enrichment) ไปเป็นเวลา 10 ปี โดยจะต้องได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 1 ก.ค. 58
-/+ โดยที่ผ่านมาอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบเพียงวันละ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากที่เคยส่งออกได้วันละ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2555 ซึ่งหากมีการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านเกิดขึ้นจะส่งผลทำให้เกิดอุปทานน้ำมันมากขึ้นถึงวันละ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้นักวิเคราะห์ได้ให้ความเห็นว่า การกลับมาส่งออกน้ำมันได้มากขึ้นของอิหร่านน่าจะทำให้กลุ่มโอเปกซึ่งนำโดยซาอุดิอาระเบียอาจจะพิจารณาที่จะปรับลดกำลังการผลิต เพื่อที่จะทำให้การผลิตของกลุ่มโอเปกอยู่ภายในโควต้า 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน
+ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศโดยกระทรวงแรงงาน ได้ปรับตัวลดลง 20,000 ราย ลงมาอยู่ที่ระดับ 268,000 รายซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 285,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขการว่างงานที่เกือบต่ำที่สุดในรอบ 16 ปีของสหรัฐฯ และเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
+ ยอดการสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของยอดการสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจของสหรัฐ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ถึงแม้ว่าจะยังมีอุปสงค์จากประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซียที่ต้องการน้ำมันเบนซินในการสต็อกน้ำมันภายในประเทศก็ตาม
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นนน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ถึงแม้ว่าจะมีแรงหนุนของอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากประเทศเวียดนาม ศรีลังกา และ อียิปต์ และการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในภูมิภาคก็ตาม
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาปัญหาการสู้รบในเยเมนที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงขึ้นหลังซาอุดิอาระเบียได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มกบฏฮูติเพื่อช่วยเหลือนายอาเบด รับโบ มานซูร์ ฮาดี ประธานาธิบดีเยเมนในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าการสู้รบนี้จะขยายวงกว้างและอาจกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในภูมิภาคได้ และล่าสุดได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในด้านการขนส่งและข่าวกรองทางทหาร
จับตาเศรษฐกิจกรีซและยูโรโซนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากมีการคาดการณ์ว่าการขาดแคลนสภาพคล่องของรัฐบาลกรีซอาจจะนำไปสู่ การผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 460 ล้านยูโร หรือ 502.5 ล้าน ให้กับกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงต้นเม.ย. นี้ โดยรัฐบาลกรีซจะต้องเสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภายในในวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. นี้
จับตาการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจทั้งหก ว่าจะสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงได้หรือไม่ โดยทุกฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงขั้นแรกภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และต้องได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 1 ก.ค. 58 โดยการเจรจามีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งล่าสุดส่งผลให้อิหร่านยังไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ดังนั้นหากข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผล ก็อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง
อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน เม.ย. และ พ.ค. นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสบดี ยอดการรับสิทธิ์ว่างงานเบื้องต้นของสหรัฐฯ (27 มี.ค.)
ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานสหรัฐฯ - ก.พ.
วันศุกร์ รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - มี.ค.
อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - มี.ค.
วันจันทร์ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) - มี.ค.
วันพุธ ยอดค้าปลีกยูโรโซน (YoY) - ก.พ.
วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน (YoY) - มี.ค.
ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน (YoY) - มี.ค.
ข่าวเด่น