ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ และกำลังผลิตของซาอุดิอาระเบียที่สูงเป็นประวัติการณ์


 -  ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับลดลง จากข้อมูลคลังน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยให้เห็นปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 482.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง  นอกจากนี้  ยังได้รับแรงกดดันหลังรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเผยตัวเลขกำลังผลิตของซาอุดีอาระเบียพุ่งขึ้นแตะ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเท่าที่เคยมีมา ถึงแม้ว่าตลาดโลกกำลังเผชิญกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดก็ตาม

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ  (EIA) รายงายตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 3 เม.ย.โดยน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 10.95 ล้านบาร์เรล เป็นสัปดาห์ที่ 13 ติดต่อกัน  ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เกือบสามเท่าที่ 3.4  ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติกาณ์ ที่ระดับ 482.4 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.2  ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 60.2 ล้านบาร์เรล  นอกจากนี้  ปริมาณน้ำมันเบนซินในคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 817,000 บาร์เรล  สวนทางที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงกว่า 1 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ น้ำมันดีเซลในคงคลังปรับลดลง  250,000 บาร์เรล

- นายอาลี อัล ไนมี รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยตัวเลขปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศในเดือน มี.ค. แตะระดับ  10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติก่อนหน้านี้ที่ 10.2 ล้านบาร์เรลเมื่อเดือน ส.ค. 56  อย่างไรก็ดี นายอาลี อัล ไนมีไม่ได้ชี้แจงถึงเหตุผลของการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ  โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าท่าทีของซาอุดิอาระเบียแสดงให้เห็นว่าซาอุดิอาระเบียยังคงต้องการรักษาส่วนแบ่งน้ำมันดิบในตลาดโลกและพร้อมแข่งขันกับผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย

- ตัวแทนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปิดเผยว่า Fed อาจพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ (Fed Funds Rate)  ในเดือน มิ.ย. 58 ถึงแม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ล่าสุดในรอบเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ การจ้างงาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และ ยอดค้าปลีก ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ ทำให้นักลงทุนกังวลต่อการฟื้นตัวในระยะยาวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธาน Fed สาขา New York กล่าวว่า Fed ยังคงสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี หากข้อมูลเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงการขยายตัวในอีก 2 เดือนข้างหน้า ถึงแม้เศรษฐกิจในปัจจุบันจะยังอยู่ในภาวะอ่อนแอก็ตาม  อย่างไรก็ตาม หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไปอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่า ในขณะที่  นายเจโรม โพเวลล์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการคนหนึ่งของ Fed เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ แม้ขณะนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่  Fed ควรดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการนำเข้าของผู้บริโภคหลักของประเทศ อย่างอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. กว่า 2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 11 ล้านบาร์เรล  และภาวะอุปทานที่ตึงตัว หลังโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังอยู่ในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำไตรมาส 2 ของปี 

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานส่วนเกินที่ลดลง ในช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำไตรมาส 2  อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นหลักในอินเดีย เกาหลี และไต้หวัน อาจทยอยกลับมาดำเนินการผลิตตามปกติในช่วงปลายเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีอุปทานเข้ามากดดันราคาน้ำมันดีเซลมากขึ้น  นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มที่จะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปน้อยลง  ตามนโยบายที่จะพึ่งพาอุปทานจากโรงกลั่นใหม่ของประเทศแทน

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ (P5+1) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ผ่านพ้นกำหนดเส้นตาย ณ วันที่ 31 มี.ค. โดยล่าสุดทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุกรอบข้อตกลงเบื้องต้นในการจำกัดศักยภาพโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานได้ หลังการเจรจายืดเยื้อกว่า 8 วัน ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า อิหร่านอาจจะเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากชาติตะวันตกตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน 

ตลาดยังคงกังวลว่าเหตุการณ์โจมตีของประเทศซาอุดิอาระเบียและสมาชิกกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับต่อกลุ่มกบฎฮูตี ชาวชีอะห์ ในประเทศเยเมน อาจเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามระหว่างเชื้อชาติในตะวันออกกลาง และอาจทำให้อ่าวเอเดนถูกปิดลง ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งนํ้ามันดิบ และทำให้อุปทานอาจหายไปคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของความต้องการน้ำมันของโลก 

การชะลอแผนการลงทุนขุดเจาะและผลิตน้ำมันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯที่ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปลายเดือน มี.ค. ซึ่งตลาดคาดว่าการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบในระยะยาวต่อไป 

อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ โดยล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Units) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะลดลงราว 2 ล้านบาร์เรลในช่วงไตรมาส 2 นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันศุกร์ รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - มี.ค.

อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - มี.ค.

วันจันทร์ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) - มี.ค. 

วันพุธ ยอดค้าปลีกยูโรโซน (YoY) - ก.พ.

วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน (YoY) - มี.ค.

ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน (YoY) - มี.ค.

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 เม.ย. 2558 เวลา : 11:52:41

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:54 am