+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดระดับทรงตัวจากวันก่อนหน้า ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 17 เม.ย. 58 โดย Genscape จะปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 350,000 บาร์เรล หลังจากในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์มีการปรับลดลงประมาณ 950,000 บาร์เรล ซึ่งช่วยลดความกังวลว่าการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณสต๊อกน้ำมันอย่างต่อ เนื่องจะส่งผลให้ไม่มีพื้นที่เพียงพอในการเก็บน้ำมันดิบ โดยจากข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. พบว่ามีปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ที่ คุชชิ่งประมาณ 61.462 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 86.8% ของกำลังการผลิตดำเนินงาน จากการประเมินโดย EIA
+ สถานการณ์ในเยเมนกลับมาตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากแหล่งข่าวเปิดเผยว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ ได้มีการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพร้อมกับเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถี เข้าไปในเขตย่านน้ำใกล้กับประเทศเยเมน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เปิดเผยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อสกัดกั้นการส่งอาวุธของอิหร่านเข้าไปในเยเมนแต่ อย่างใด ประกอบกับซาอุดิอาระเบียเองมีการส่งสัญญาณเตือนว่าพร้อมที่จะมีการโจมตีทาง อากาศอีกครั้งหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ
- อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงถูกกดดันโดย อุปทานน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ในเดือน เม.ย. 58 ซาอุฯ ก็จะยังคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอัตราที่สูงกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่มีการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากการเปิดดำเนินการอีกครั้งของแหล่งผลิตน้ำมันดิบในฝั่งตะวันตก
- ผลสำรวจจาก Reuters ในช่วง 20 วันแรกของเดือน เม.ย. 58 พบว่าปริมาณการส่งออกน้ำมับของอิรัก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยหากพิจารณาข้อมูลพบว่าการส่งออกจากทางตอนใต้มีการปรับลดลง ในขณะที่การส่งออกจากทางตอนเหนือมีการปรับขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันเบนซิน ทรงตัวเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคจะมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจากการปิดซ่อมบำรุงของโรง กลั่นในภูมิภาค ประกอบกับอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอินเดียที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก หลังจากราคาขายปลีกในประเทศที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีอุปสงค์จากศรีลังกาด้วยเช่นกัน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลง โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย ที่มีการนำเข้าน้ำมันดีเซลลดลงหลังจากรัฐบาลลดการอุดหนุนลงและมีการผลักดัน ไปใช้ไบโอดีเซลทดแทนมากขึ้น ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคที่มีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและการ ส่งไปยังยุโรปทำได้ยากมากขึ้น หลังจากมีการดำเนินการของโรงกลั่นใหม่ในซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิ เรตส์
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับลดลงต่อเนื่องหรือไม่ หลัง EIA ส่งสัญญาณปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอีกครั้งในรอบ 3 เดือน และยืนอยู่ที่ระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากลดลงต่อเนื่องก็อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกล้นตลาดน้อยลง นอกจากนี้ IEA ยังได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการผลิตน้ำมันดิบในอเมริกาเหนือใน ช่วงครึ่งปีหลังลง 160,000 บาร์เรลต่อวัน
ทิศทางของเศรษฐกิจของยูโรโซนและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ไข ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและเงินฝืด โดยล่าสุดคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดในประวัติกาลที่ 0.05% และยืนยันว่า ECB จะเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่อไป
จับตาว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดอัตราเงินสดสำรอง หรือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมหรือไม่ หลังอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานจีดีพีไตรมาส 1/58 ว่าขยายตัวที่ 7% ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี
อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 2 นี้ หลังโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น โดยล่าสุดคาดว่าหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Units) ในเอเชียแปซิฟิกจะปิดซ่อมบำรุงราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสบดี จีดีพีจีน - Q1/15
ยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ - 10 ก.พ.
วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ - มี.ค.
ความรู้สึกผู้บริโภคสหรัฐฯ - เม.ย.
วันพฤหัสบดี ดัชนีภาคการผลิตจีน - เม.ย.
ดัชนีภาคการบริการยูโรโซน - เม.ย.
ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน - เม.ย.
วันศุกร์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ - มี.ค.
ข่าวเด่น