-/+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อยหลังจากที่มีการปรับขึ้นต่อเนื่องมาหลายวัน จากความกังวลอุปทานล้นตลาด แม้วันพุธที่ผ่านมาสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 8 พ.ค. ปรับลดลง 2.2 ล้านบาร์เรลไปอยู่ที่ระดับ 484.8 ล้านบาร์เรล โดยเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นที่ 386,000 บาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลงเช่นกันที่ 990,000 บาร์เรล สู่ระดับ 60.68 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาด ส่วนปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังก็ปรับลดลงเช่นเดียวกันที่ 2.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
- แม้ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ จะเริ่มปรับลดลงแล้วก็ตาม แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังมองว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 20% อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดจะสามารถกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลอีกครั้ง หากปริมาณการผลิตน้ำมันลดลง1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งขณะนี้ทั้งสหรัฐฯ และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกเองก็ยังไม่มีทีท่าที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) รายงานว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกมีแน้วโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด โดย IEA กล่าวเพิ่มเติมว่าสงครามราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันทั่วโลกมีอุปทานน้ำมันส่วนเกินอยู่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ แม้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตลดลงก็ตาม แต่อุปทานน้ำมันดิบทั่วโลกกลับปรับตัวเพิ่มมากขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
+ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในตะกร้าเงิน หลังสหรัฐฯ ออกมาเผยตัวเลขยอดค้าปลิก (retail sales) ทรงตัวในเดือน เม.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% โดยภาวะทรงตัวของยอดค้าปลีกในเดือนเม.ย. ส่วนหนึ่งเกิดมาจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง 0.4% และยอดขายน้ำมันลดลง 0.7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินจากประเทศอินโดนีเซียและตะวันออกกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลถือศีลอด ในวันที่ 19 มิ.ย. นอกจากนี้อุปสงค์จากสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ก็ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีความต้องการใช้สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดีเซลยังคง อยู่ในระดับต่ำ จากการที่โรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียหลายแห่งปิดซ่อมบำรุงประจำปี ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนราคาน้ำมันดีเซลในช่วงนี้ได้
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ตลาดยังมีความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบที่อาจจะตึงตัวมากขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศลิเบียได้ทำการปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบที่ลำเลียงไปยังท่าเรือ Zueitina ทำให้การดำเนินงานบริเวณท่าเรือต้องหยุดชะงักลง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียลดลงมาอยู่ระดับต่ำกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้การสู้รบระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มกบฏฮูธิในเยเมนก็ยังไม่มีทีท่าที่จะยุติลงได้ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียได้ส่งทหารเข้าไปยังเมืองท่าเอเดนของเยเมนแล้ว โดยการปฏิบัติการครั้งนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติภาคพื้นดินครั้งแรกนับตั้งแต่ซาอุดิอาระเบียได้เริ่มเปิดสงครามทางอากาศกับเยเมนเมื่อปลายเดือน มี.ค. แม้ว่าเยเมนจะไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ แต่จากสถาการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าปัญหาอาจจะบานปลายและส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบในภูมิภาคได้
อิหร่านเผยว่า หากอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจทั้งหกได้ ซึ่งมีกำหนดเส้นตายวันที่ 30 มิ.ย. 58 นี้ อิหร่านตัดสินใจจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมากขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอิหร่านได้ลดกำลังการผลิตลงไปกว่า 60% โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอิหร่านกล่าวว่าอิหร่านต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันดิบโลก
จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Baker Huges เปิดเผยข้อมูลจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. ปรับลดลง 24 แท่น เหลือเพียง 679 แท่น อย่างไรก็ดี การลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลงน้อยที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งการปรับลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในอัตราที่ช้าลง อาจส่งสัญญาณว่าการลดลงของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบอาจจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 60 ในเดือน มี.ค. 58 จากระดับที่สูงที่สุดในเดือน มิ.ย. 57
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพุธ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน - เม.ย.
ยอดค้าปลีกจีน - เม.ย.
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน - มี.ค.
จีดีพียูโรโซน - ไตรมาส 1/58
ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ - เม.ย.
วันพฤหัสบดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ - 8 พ.ค.
วันศุกร์ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ - เม.ย.
ข่าวเด่น