ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันลดลง หลังดอลลาร์แข็งค่า และการลดลงของจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบชะลอตัว


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลงเกือบ 2% หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมทั้งนักลงทุนได้ขายสัญญาน้ำมันดิบเพื่อทำกำไรก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว ของสหรัฐฯ เนื่องในวัน Memorial Day หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสองวันที่ผ่านมา 

- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบค่าเงินสกุลยูโร ปรับแข็งค่าขึ้น มาที่ 1.1015 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร หลังนาง Janet Yellen ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอบเบี้ยภายในปีนี้ หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในไตรมาสแรก ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ เดือนเม.ย. ขยายตัว 0.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน ส่วนอัตราเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.3% จากเดือนก่อนหน้า นับป็นการขยายตัวที่มากสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 56  

- ความกังวลว่าจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับลดลงน้อยลง หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย. ล่าสุด Baker Highes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ลดลงเพียง 1 แหล่ง ซึ่งเป็นการลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 24 ติดต่อกัน ทำให้จำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันเหลือ 659 แหล่ง ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ส.ค. 53

- ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) เดือน พ.ค. ชะลอตัวลงมาที่ 53.8 จุด และน้อยกว่าคาดที่ 54.5 จุด เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 57 หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่ากระทบต่ออุปสงค์กการส่งออก อย่างไรก็ดี ดัขนี PMI ที่อยู่เหนือ 50 จุด บ่งชี้การขยายตัว

-/+ สมาคมรถยนต์แห่งอเมริกาให้ความเห็นว่าปริมาณการใช้ยานพาหนะในช่วงวันหยุดยาว เนื่องในวัน Memorial อาจสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอาจไม่สามารถทำให้ราคาปรับ ขึ้นได้ เนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับสูง

 

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาคก่อนเข้าสู่ช่วงถือศีลอด  ล่าสุดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และศรีลังกา ทำการตกลงซื้อน้ำมันเบนซินสำหรับการขนส่งในเดือนมิ.ย.และก.ค. นอกจากนี้อุปทานจากอินเดียลดลง โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินจากอินเดียหดตัว 12.3% จากเดือนก่อน เนื่องจากอุปสงค์ประเทศเพิ่มขึ้น และโรงกลั่นอยู่ในช่วงหยุดซ่อมบำรุง

 

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์จากเวียดนามและอินเดีย โดยปริมาณการขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของอินเดียทำสถิติสูงสุดในเดือนมี.ค. และเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเดือน เม.ย.ขยายตัว  10.3% จากเดือนก่อน นอกจากนี้ยอดส่งออกดีเซลจากอินเดียลดลงถึง 21% อย่างไรก็ดี อุปทานในภูมิภาคยังมีเพียงพอ เนื่องจากโรงกลั่นต่างๆเพิ่มกำลังการผลิต หลังกำไรค่าการกลั่นอยู่ในระดับดี ประกอบกับการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล 

 

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

 ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดมองว่าอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน โดยปรับลดลงสู่ระดับ 482.2 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง และส่งสัญญาณถึงอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่ฤดูการขับขี่ฤดูร้อนของ สหรัฐฯ (มิ.ย. – ส.ค.) อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ระดับปัจจุบัน ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยของปีก่อนหน้า

 

จับตาซาอุดิอาระเบียว่าจะยังคงเดินหน้าผลิตและส่งออกน้ำมันดิบน้ำมันดิบ ในระดับสูงต่อไปหรือไม่ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ โดยในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาซาอุฯ ผลิตน้ำมันดิบแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 10.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การส่งออกก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ระดับ 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

 การเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งจะส่งผลต่อ โดยล่าสุดกรีซได้มีการชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไปแล้วส่วนหนึ่งจำนวน 750 ล้านยูโร เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กรีซมีนัดชำระหนี้กับ IMF งวดถัดไป จำนวน 1.5 พันล้านยูโร ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายยังคงกังวลว่ากรีซมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระ หนี้ IMF ทันกำหนด เนื่องจากในตอนนี้กรีซยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางกลุ่มเจ้าหนี้ได้ และอาจเป็นเหตุให้กรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบใหม่จากยูโรโซนมูลค่าราว 7 พันล้านยูโร ในวันที่ 3 มิ.ย.

 

ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อทั้งใน เยเมน อิรัก และลิเบีย เป็นต้น ยังคงสร้างความกังวลว่าจะกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบของภูมิภาคและยังคงส่งแรง หนุนต่อราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดยังเฝ้าจับตากระแสตอบรับก่อนการประชุมโอเปกที่จะจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ว่าจะมีการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าโอเปกจะไม่ลดกำลังการผลิตลง และจะยังคงโควต้าการปลิตของกลุ่มที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันพฤหัสบดี ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ - เม.ย.

วันศุกร์ ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) - พ.ค.

ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ - เม.ย.

ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) - พ.ค.

วันอังคาร ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ - เม.ย.

ความเชื่อมันผู้บริโภคสหรัฐฯ - พ.ค.

วันพฤหัสบดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ

วันศุกร์ จีดีพี ไตรมาส1/2558 สหรัฐฯ (YoY)

ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Chicago PMI) - พ.ค.

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ค. 2558 เวลา : 10:55:26

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:04 am