ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์lราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังนักลงทุนเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไร และความกังวลต่อวิกฤติหนี้สินกรีซ


 

+/- ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากมีแรงซื้อเพื่อทำกำไรจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ น้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากฤดูกาลท่องเที่ยวของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบค่อนข้างผันผวนในช่วงนี้มาจากความกังวล ของนักลงทุนต่อวิกฤติหนี้สินของกรีซ ว่าอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซน และส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงได้ โดยล่าสุดกรีซไม่สามารถชำระหนี้ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำนวน 1.6 พันล้านยูโร ตามกำหนดเส้นตายเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ได้ ทั้งนี้กรีซจะจัดทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค. นี้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะยอมรับเงื่อนไขในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทาง การเงินจากทางเจ้าหนี้หรือไม่

 

- ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านมายังภูมิภาคเอเชียปรับตัวสูงขึ้น ในเดือน พ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเดือน ธ.ค. 57 ที่ผ่านมา โดยตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง พ.ค. อยู่ที่ระดับประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าขณะนี้ข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้งหกยังไม่ สามารถหาข้อสรุปได้ทันกำหนดในวันที่ 30 มิ.ย ก็ตาม อย่างไรก็ดี กำหนดเส้นตายได้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 7 ก.ค. โดยตลาดคาดการณ์ว่าหากชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน จะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้น โดยคาดว่าอิหร่านมีน้ำมันดิบที่พร้อมส่งออกอยู่ราว 40 ล้านบาร์เรล และมีแนวโน้มจะผลิตเพิ่มประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวันภายใน 1 เดือนหลังยกเลิกการคว่ำบาตร และเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบาร์เรลภายใน 6-7 เดือน 

 

- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณนํ้ามันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 1.875 ล้านบาร์เรล มา อยู่ที่ระดับ 468.861 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงที่ 2.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากกําลังการผลิตของโรงกลั่น สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 77,000 บาร์เรลต่อวัน และการนําเข้านํ้ามันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 455,000 บาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 7.215 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณนํ้ามันเบนซินคงคลังคงคลังก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 263,000 บาร์เรล และนํ้ามันดีเซลคงคลัง ก็ปรับเพิ่มขึ้นที่ 334,000 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 

 

+/- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 101.4 ในเดือนมิ.ย. หลังแตะระดับ 94.6 ในเดือนพ.ค ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของ         ยูโรโซนในเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.2% จากระดับ 0.0% ในเดือน พ.ค. 

 

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังคงแข็งแกร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก อินโดนีเซียและอินเดีย ประกอบกับตลาดน้ำมันเบนซินโลกที่ค่อนตรึงตัวจากฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ  นอกจากนี้ อุปทานมีแนวโน้มที่จะตึงตัวมากขึ้นหลังโรงกลั่นทั้งทางฝั่งเอเซียตอนเหนือ และสหรัฐฯ อาจจะปิดการดำเนินงานชั่วคราวเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของการเกิดพายุโซน ร้อน

 

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียยังคงซบเซาและได้รับแรงกดดันหลักจากอุปทาน ส่วนเกินจากการที่โรงกลั่นในภูมิภาคส่วนใหญ่กลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงประจำ ปี รวมถึงค่าขนส่งที่สูงขึ้นส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังประเทศทาง ตะวันตกได้ 

 

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ (P5+1) หลังมีการเลื่อนกำหนดเส้นตายจากวันที่ 30 มิ.ย.เป็น 7 ก.ค. 58 นี้ ว่าจะออกมาในทิศทางใด ซึ่งหากชาติมหาอำนาจยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของอิหร่าน อาจทำให้อิหร่านสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้น โดยปัจจุบันอิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เพียง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยส่งออกที่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2555

 

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นระหว่าง ฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ ในช่วงฤดูร้อน (มิ.ย. – ส.ค.) 

 

จับตาการลงประชามติของกรีซ หลังล่าสุดกรีซไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ราว 1.6 พันล้านยูโรได้ทันกำหนดเส้นตายในวันที่ 30 มิ.ย.อย่างไรก็ดี กรีซจะจัดทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค. นี้ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะยอมรับเงื่อนไขในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทาง การเงินจากทางเจ้าหนี้หรือไม่ 

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันอังคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (YoY) - มิ.ย.

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ - มิ.ย.

วันพุธ ดัชนีภาคการผลิตจีน (NBS PMI) - มิ.ย.

ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM PMI) - มิ.ย.

วันพฤหัส ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (YoY) - พ.ค.

รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ - มิ.ย.

อัตราการว่างงานสหรัฐฯ - มิ.ย.

วันศุกร์ ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ - มิ.ย.

 

 


LastUpdate 01/07/2558 11:43:38 โดย : Admin

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:11 pm