สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า การลงประชามติของกรีซวานนี้ (5 กรกฎาคม 2558) กระทรวงมหาดไทยกรีซเปิดเผยหลังการนับคะแนนเกือบเสร็จสิ้นว่าชาวกรีซ 61% ออกเสียง “ไม่รับ” เงื่อนไขของผู้ปล่อยกู้ ซึ่งถือว่ามากกว่าที่โพลล์คาดหมายไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนอีก 39% ออกเสียง “รับ”
ประชาชนหลายพันคนที่สนับสนุนการลงมติ “ไม่รับ” พากันออกไปเฉลิมฉลองโห่ร้องกันที่หน้ารัฐสภาในกรุงเอเธนส์ ขณะที่นายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีกรีก กล่าวว่าการลงประชามติครั้งนี้ ไม่ใช่การต่อต้านยุโรป แต่เป็นอาณัติที่ประชาชนมอบให้เขาไปเจรจาหาทางออกที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพื่อแก้วิกฤตหนี้สินของกรีซ
ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซจัดการลงประชามติเพราะเชื่อว่าหากประชาชนไม่รับข้อเสนอของเจ้าหนี้ ก็จะทำให้กรีซมีอำนาจต่อรองมากขึ้น แม้ว่าบรรดาผู้นำยุโรปจะเตือนว่าสิ่งนี้อาจนำไปสู่การออกจากการเป็นประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรของกรีซ
บีบีซีรายงานด้วยว่า ด้านนางแองเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี และนายฟรองซัวส์ โอลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่าจะเรียกประชุมสุดยอดประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรวันอังคารนี้เพื่อหารือเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีหลายคนของประเทศในเขตยูโรต่างตระหนกกับผลการลงประชามติ
นายซิกมาร์ กาเบรียล รมว.เศรษฐกิจของเยอรมนี ไม่เชื่อว่าจะมีการเจรจาต่อรองเรื่องหนี้ของกรีซเกิดขึ้นอีก เขาเห็นว่านายกรัฐมนตรีกรีกได้เผาทำลายสะพานแห่งสุดท้ายที่เชื่อมกรีกกับยุโรปจนเสียหาย ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเจรจาข้อตกลงกันใหม่ ส่วนที่สเปน นายปาโบล อิกเลเซียส หัวหน้าพรรคโปเดมอส พรรคที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ยินดีกับผลการลงประชามติและเห็นว่าเป็นชัยชนะของประชาธิปไตย
ด้าน นายแอนโทนิส ซามาราส หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของกรีซ ซึ่งส่งเสริมให้รับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ ได้ลาออกจากตำแหน่งแล็ว
ข่าวเด่น