ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังจากกรีซลงประชามติปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัดของสหภาพยุโรปและ IMF


- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสได้ปรับลดลงมากที่สุดตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 58 ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ปรับลดลงต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 58 ที่ผ่านมาเช่นกัน หลังจากเสร็จสิ้นการลงประชามติของกรีซและผลการลงประชามติที่ปฏิเสธมาตรการ รัดเข็มขัดของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้ IMF ระงับการช่วยเหลือทางการเงินทั้งหมดแก่กรีซจนกว่ากรีซจะชำระหนี้ทั้งหมด ขณะที่ธนาคารกลางแห่งยุโรปก็ชะลอการพิจารณาคำร้องขอเงินช่วยเหลือสภาพคล่อง ฉุกเฉิน (ELA) ที่ให้แก่ธนาคารกรีซ โดยจะมีการประชุมและตัดสินใจอีกครั้งในวันนี้ (7 ก.ค. 58) และตลาดยังคงจับตามองต่อสถานการณ์ของกรีซที่จะถูกปลดออกจากประเทศยูโรโซน และไม่สามารถใช้สกุลเงินยูโรได้อีกต่อไป

 

- จากผลการลงประชามติที่ปฏิเสธมาตรการรัดเข็มขัดนั้น ทำให้ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นปรับตัวลดลง จึงส่งผลให้ราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาลดลง ซึ่งรวมถึงราคาน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน

 

- อีกหนึ่งสาเหตุที่กดดันราคาน้ำมันดิบลงได้แก่ความกังวลต่อวิกฤติตลาดหุ้นของ จีนที่ร่วงลงไปเกือบ 30% นับตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการช่วยสกัดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เช่น มาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการผ่อนปรนการกู้ยืมเพื่อหลักทรัพย์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งกระแสเทขายหุ้นลงไปได้ ขณะที่ธนาคารกลางจีนได้ทุ่มเงินกว่า 250,000 ล้านหยวน เพื่ออัดฉีดเงินกู้ระยะกลางให้แก่กลุ่มธนาคารเพื่อประกันสภาพคล่องในระบบ

 

- ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI) เดือน มิ.ย. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.8 ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 56.8 และปรับลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 55.1 ซึ่งการลดลงของดัชนีภาคการผลิตนั้น เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวยังคงมากกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัว

 

+ ดัชนีภาคการบริการของสหรัฐฯ (ISM non-PMI) เดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.7 มาสู่ระดับ 56.0 และตรงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 56.0 เช่นกัน โดยปรับขึ้นจากตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่เป็นสาเหตุหลัก

 

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณอุปทานที่ลดลงจากการที่โรงกลั่นน้ำมันในไต้หวันปิดซ่อมบำรุง ตามฤดูกาล แต่อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันเบนซินเริ่มที่จะปรับตัวลดลงหลังสิ้นสุดฤดูกาล ท่องเที่ยว

 

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีปริมาณอุปทานที่ล้นตลาดโดยเฉพาะจากประเทศจีนที่ส่งออกน้ำมัน ดีเซลออกมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงอุปสงค์ที่ลดลงจากการห้ามทำการประมงในแถบทะเลจีนใต้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปสงค์จากทางด้านยุโรปและอิรักอยู่บางส่วน

 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซ  หลังจากรัฐบาลกรีซผิดนัดชำระหนี้งวดล่าสุดให้แก่ IMF ราว 1.6 พันล้านยูโร ในวันที่ 30 มิ.ย. ส่งผลให้กรีซกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ผิดนัดการชำระหนี้ โดยล่าสุด กลุ่มเจ้าหนี้ประกาศไม่ต่ออายุข้อตกลงช่วยเหลือกรีซออกไปจากวันที่ 30 มิ.ย. เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันเรื่องแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซได้ ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซประกาศให้มีการลงประชามติในวันที่ 5 ก.ค. เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะยอมรับมาตรการปฏิรูปของกลุ่มเจ้าหนี้หรือไม่ ซึ่งการปฏิเสธความช่วยเหลือครั้งนี้อาจส่งผลให้กรีซต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน

 

ราคาน้ำมันดิบที่ฟื้นตัวเหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ อาจเพิ่มความจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ บริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบหลายแห่งได้ชะลอการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบลง จากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ 

 

ติดตามการเจรจาระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ (P5+1) โดยทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับโครงการ นิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของอิหร่าน ภายในเส้นตายวันที่ 30 มิ.ย. ตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ได้ ทั้งนี้ อิหร่านและชาติมหาอำนาจตกลงที่จะยืดเวลาการเจรจาเพื่อหาข้อยุติให้ได้ข้อ สรุปภายในวันที่ 7 ก.ค. ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าหากชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน จะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้มากขึ้นอีกราว 2- 5 แสนบาร์เรล ต่อวัน ภายใน 6-12 เดือน หลังจากการยกเลิกมาตรการคว่ำมาตร 

 

ติดตามทิศทางเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) จะมีการประกาศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ โดยล่าสุด PBOC ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี และประกาศลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันศุกร์ ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ - มิ.ย.

วันจันทร์ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (Markit PMI)

ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ (ISM NON-PMI)

วันพฤหัสบดี ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน - มิ.ย.

ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน  - มิ.ย.

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ก.ค. 2558 เวลา : 10:58:55

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:15 am