ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มที่จะใช้เวลากว่าจะส่งออกได้เต็มที่


+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากมีแนวโน้มว่าการยกเลิกการคว่ำบาตรของ UN จากข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและกลุ่มชาติมหาอำนาจจะไม่มีผลโดยทันที เนื่องจากยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 60 วัน เพื่อให้รัฐสภาของสหรัฐฯ พิจารณาอนุมัติข้อตกลงดังกล่าว ทำให้อิหร่านยังคงไม่สามารถเพิ่มปริมาณส่งออกในปีนี้ได้มากนัก นอกจากนี้ การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านนั้นจะทำได้แค่เพียงค่อยๆเพิ่มขึ้น โดยนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าภายในปีนี้อิหร่านจะเพิ่มอัตราการส่งออก น้ำมันดิบได้เพียงประมาณ 250,000 - 500,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งอิหร่านน่าจะส่งออกน้ำมันดิบได้เต็มที่เร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ปัจจุบันอิหร่านถูกจำกัดการส่งออกน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือครึ่งหนึ่งของกำลังการส่งออกทั้งหมดของอิหร่าน

 

+ สถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ หรือ API ได้ประกาศตัวเลขน้ำมันคงคลังสำรองของสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ระดับน้ำมันดิบคงคลังสำรองของสหรัฐฯ  ได้ปรับตัวลดลงราว 7.3 ล้านบาร์เรลมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าระดับน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะลดลงเพียง 1.2 ล้านบาร์เรลเท่านั้น โดยข้อมูลระดับน้ำมันดิบคงคลังสำรองของสหรัฐฯ จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ หรือ EIA จะประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันนี้

 

+ สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  ล่าสุดกองกำลังทหารของเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกอ่าวเปอร์เซีย ได้เข้าควบคุมสนามบิน Aden ในประเทศเยเมนจากกลุ่มก่อความไม่สงบฮูติที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน หลังจากได้มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรง ซึ่งได้เพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบในขณะนี้

 

- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป หรือ Eurostat ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนจากประเทศที่ใช้เงิน สกุลยูโรทั้ง 19 ประเทศ ว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนได้ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 

 

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินที่มากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศ มาเลเซียที่มีการผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1% จากปีที่ผ่านมา รวมไปถึงมีการส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มเติมบางส่วนจากประเทศจีน นอกจากนี้อุปสงค์จากประเทศอินโดนีเซียยังปรับตัวลดลงซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่กดดันราคาน้ำมันเบนซินในขณะนี้

 

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากยังมีอุปสงค์น้ำมันดีเซลที่แข็งแกร่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะจากประเทศอียิปต์ นอกจากนี้อุปทานน้ำมันดีเซลยังตึงตัวจากการปิดตัวของโรงกลั่นในประเทศ ออสเตรเลีย

 

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังสิ้นสุดเส้นตายเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา  โดยล่าสุดผู้นำกลุ่มยูโรโซนบางประเทศมองว่าแผนใหม่ของกรีซนี้มีความจริงจัง มากขึ้น  ขณะที่กรีซเองก็มีความหวังมากขึ้นว่าแผนปฏิรูปการคลังฉบับใหม่อาจนำไปสู่ การได้มาซึ่งวงเงินกู้งวดใหม่จากกลไกรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Stability Mechanism – ESM) ที่อาจพิจารณาปล่อยกู้ในวงเงิน 58,000 ล้านยูโร และวงเงินกู้อีกราว 16,000 ล้านยูโร จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 

 

ตัวเลขหลุมขุดเจาะที่อาจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังราคาน้ำมันดิบที่ฟื้น ตัวเหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ อาจเพิ่มความจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบหลายแห่งได้ชะลอการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบลง

 

การเจรจาเพื่อหาข้อยุติโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการผ่อน ปรนมาตรการคว่ำบาตรจะสำเร็จภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ตลาดลดความคาดหวังว่าอิหร่านจะได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรจากการเจรจาครั้ง นี้ลงไปเล็กน้อย หลังการเจรจาถูกขยับเส้นตายออกไปมากถึง 3 ครั้งภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ 

 

ตลาดหุ้นจีนที่ยังคงเปราะบางส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยรวมของจีน อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีน (PBOC) คาดว่าจะพยายามหามาตรการในการหนุนให้เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างมี เสถียรภาพและคาดว่าจะยังไม่ส่งผลโดยตรงต่อตลาดน้ำมันในระยะสั้นนี้

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันจันทร์ ดุลการค้าจีน (MoM) - มิ.ย.

วันอังคาร ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน (MoM) - พ.ค.

ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ (MoM) - มิ.ย.

วันพุธ ยอดค้าปลีกจีน (YoY) - มิ.ย.

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน (YoY) - มิ.ย.

จีดีพีจีน (ไตรมาส 2/58)

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (MoM) - มิ.ย.

ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ (YoY) - มิ.ย.

วันพฤหัสบดี ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (YoY) - มิ.ย.

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ (MoM) - มิ.ย.

วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (YoY) - มิ.ย.

 

 

 

 

 


บันทึกโดย : วันที่ : 15 ก.ค. 2558 เวลา : 11:40:05

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:06 am