ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และปริมาณน้ำมันที่ล้นตลาด


-  ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในระดับที่แข็งแกร่ง จึงทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และยังกดดันราคาทองแดงให้ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์  การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น ส่งผลให้กดดันราคาน้ำมันดิบให้ต่ำลง

 

- โรงกลั่นน้ำมันดิบทั่วโลกได้ปรับกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ใกล้สู่ระดับสูงสุดของอัตราการกลั่น หลังจากค่าการกลั่นได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้มีสัญญาณว่าปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดนั้นมีปริมาณมากเกินกว่า ความต้องการเช่นเดียวกับปริมาณน้ำมันดิบในขณะนี้  ถึงแม้ว่าจำนวนแหล่งขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีผลต่ออัตรากำลังการผลิตน้ำมันในประเทศแต่อย่างใด รวมถึงผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น การที่โรงกลั่นต่างๆ เพิ่มอัตรากำลังการผลิตในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตจะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จึงส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบปรับลดลง

 

- หลังจากที่อิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการจำกัดศักยภาพนิวเคลียร์ของ อิหร่านกับชาติมหาอำนาจต่างๆ (P5+1) ในวันอังคารของสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วนั้น ส่งผลให้อิหร่านได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และทำให้มีการคาดกาณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำมับดิบออกสู่ตลาดในปริมาณที่เพิ่มมาก ขึ้น โดยอิหร่านได้ทำการขนส่งน้ำมันดิบที่เก็บไว้บนเรือขนส่งน้ำมันดิบไปยัง สิงคโปร์เป็นลำแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีรายงานว่าอิหร่านยังคงมีน้ำมันดิบที่เก็บเอาไว้ในเรือขนส่ง น้ำมันดิบทั้งสิ้นประมาณ 40-50 ล้านบาร์เรล หรือเท่ากับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านประมาณ 1-2 เดือน

 

+ แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ที่ปรับลดลงในช่วงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงตัวเลขจำนวนแหล่งขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามีจำนวนลดลง  7 แหล่งด้วยกัน  หลังจากที่มีรายงานตัวเลขแหล่งขุดเจาะเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้

 

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดูไบ เนื่องจากยังคงมีอุปสงค์อย่างต่อเนื่องจากสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามอุปสงค์จากอินโดนีเซียและตะวันออกกลางเริ่มมีสัญญาณลดน้อยลง หลังจากสิ้นสุดเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม

 

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดจากประเทศมาเลเซีย อินเดีย และกาตาร์ ทำให้ไปกดดันตลาดที่มีอุปทานสูงอยู่แล้วนั้น ส่งผลให้ค่าการกลั่นของน้ำมันดีเซลลดต่ำลงไปอีกกว่าเดิม

 

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

อิหร่านและกลุ่มชาติมหาอำนาจทั้งหก (P5+1) สามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์หลังจากยืดเยื้อมานานกว่า 13 ปี ได้สำเร็จ ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่มีแนวโน้มจะ เพิ่มมากขึ้นและอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อสภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอิหร่านจะเพิ่มอัตราการผลิตมากขึ้น ราว 3 - 7 แสนบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2559 นอกเหนือจากน้ำมันดิบที่ถูกเก็บไว้ในเรือบรรทุกน้ำมัน (Floating storage) ของอิหร่านอีกราว 40 ล้านบาร์เรล

 

จับตาการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ของกรีซ โดยล่าสุดรัฐสภากรีซได้มีมติอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับใหม่นี้จะทำให้กรีซได้รับความช่วยเหลือทางการ เงินรอบที่ 3 ประมาณ 8.6 หมื่นล้านยูโรจากกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งจะช่วยให้กรีซรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้และไม่ต้องออกจากการเป็นสมาชิก ยูโรโซน 

 

จับตาธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้หรือไม่ หลังล่าสุด ประธาน FED กล่าวชัดว่า FED มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตรา ร้อยละ 1.8 – 2.0 ต่อปี  ทั้งนี้ หาก FED ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงได้

 

ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของจีน หลังมูลค่าในตลาดหุ้นจีนหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 30 นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ประกอบกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ช้าลง  โดย GDP ในไตรมาสสองของปีนี้ขยายตัวเท่ากับอัตราร้อยละ 7 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีและถือเป็นอัตราการขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดของจีนนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 

 

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม

วันศุกร์ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (YoY) - มิ.ย.

วันพุธ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ - ก.ค.

ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ - ก.ค.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน

วันพฤหัสบดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ

วันศุกร์ ดัชนีภาคการผลิตจีน HSBC  - ก.ค.

ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน - ก.ค.

ดัชนีภาคบริการยูโรโซน - ก.ค.

ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ - มิ.ย.

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ค. 2558 เวลา : 10:23:39

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 6:04 pm