ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ "ธัมมชโย" ปาราชิก


วันนี้(20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558)เวลา 13.00 น. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลการพิจารณากรณีมีผู้ร้องเรียนขอ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ณ สนง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชั้น 9 อาคารบี  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการตรวจสอบกรณีพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีที่อัยการสูงสุด (ออส.)ในขณะนั้น มีคำสั่งถอนฟ้องคดีที่พระธัมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกฟ้องคดีต่อศาลอาญา ในความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดิน เมื่อปี 2549 และกรณีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่บรรจุวาระการประชุมเกี่ยวกับการปาราชิกของพระธัมชโย ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช โดยผู้ตรวจฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามตนเองของพระธัมชโยนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่กำหนดว่าหากเป็นทรัพย์สินของวัดก็จะต้องมีการลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลัก ฐานว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมาพระธัมชโย จะมีการคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นของวัด แต่ก็ล่วงเลยไปถึง 7 ปี
          
“ถือว่าการกระทำของพระธัมชโย ครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามกฎหมาอาญา มาตรา 147 และ 157 แม้ภายหลังจะมีการคืนทรัพย์สินให้วัดก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่ง ความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาซึ่งสำเร็จไปแล้วกลายเป็นไม่มี ความผิด ดังนั้นในประเด็นนี้ผู้ตรวจจึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานพิจารณาว่าการที่อัยการสูงสุดในขณะนั้น มีคำสั่งให้ถอนฟ้องนั้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”เลขาธิการผู้ตรวจฯ กล่าว
         

 

นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ในส่วนของสำนักพระพุทธศาสนานั้น หลังจากสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิต ฉบับลงวันที่ 26 เม.ย., 1 พ.ค. และ 10 พ.ค. 2542 ที่ระบุว่าพระธัมชโยควรคืนทรัพย์สินให้วัดซึ่งจะไม่ถือว่ามีโทษ เพราะอาจไม่มีเจตนา แต่หากไม่ยอมคืนทรัพย์สินดังกล่าว ถือว่าจงใจเอาทรัพย์สินเป็นของตัวเอง ซึ่งถือได้ว่าพระธัมชโยย่อมไม่เป็นสมณะ ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุโดยอัตโนมัติ ซึ่งพระลิขิตดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตดังกล่าว แต่ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ และสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิต จึงถือได้ว่าละเลยไม่ใส่ใจต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์บางรูป ผู้ตรวจฯ จึงมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อให้ขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต เช่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนา ผู้แทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธรรมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่
         
 “ในมุมของผู้ตรวจการแผ่นดินจากการสืบพยานหลักฐานในชั้นศาล เห็นตรงกันว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มีความผิดขัดพ.ร.บ.คณะสงฆ์ แต่ไม่สามารถพูดได้ว่าปาราชิกหรือไม่ เพราะไม่อยู่ในอำนาจผู้ตรวจฯ แต่ถ้ายึดถือตามพระลิขิตแล้ว การที่พระธัมชโยไม่ยอมคืนทรัพย์สินและสู้คดีจนถึง 7 ปี จึงยอมคืนนั้น แสดงว่าไม่มีเจตนาจะคืนแต่แรกแล้ว และการที่พระเอาทรัพย์สินไปเป็นของตน ก็ถือว่าอาบัติปาราชิก แต่ผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจดำเนินการด้วยตัวเอง จึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อ ไป”นายรักษเกชา กล่าว.


LastUpdate 21/07/2558 10:49:49 โดย : Admin

17-06-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ June 17, 2024, 3:02 pm