นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดกที่ได้ลงในประกาศราชกิจนุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ว่า กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้สมบูรณ์แล้ว แต่ในกฎหมายได้กำหนดว่ากรมสรรพากรจะเริ่มเก็บภาษีจากผู้รับมรดกได้จริงหลังจาก 180 วัน ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือประมาณต้นปี 59 โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรเตรียมพร้อมกับเก็บภาษีผู้รับมรดกเป็นที่เรียบร้อย ทั้งการเตรียมแบบการเสียภาษี และการออกประกาศของกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีการรับมรดกทั้งหมด ซึ่งจะดำเนินการได้ทัน เนื่องจากมีเวลาเตรียมการ โดยประเมินว่าการเก็บภาษีมรดกจะได้ปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมสรรพากรจะต้องอบรมเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบถึงการจัดเก็บภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก รวมทั้ง อาจต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงแนวทางการจัดเก็บตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยสาระสำคัญของการเก็บภาษีจากผู้รับมรดก จะเก็บจากผู้รับในอัตรา 5% ในส่วนที่ได้รับเกิน 100 ล้านบาท และผู้รับเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง และเก็บในอัตรา 10% ในส่วนที่ได้รับเกิน 100 ล้านบาท หากผู้รับไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานโดยตรง โดยการโอนทรัพย์ที่จะถูกเก็บภาษีมรดกมี 5 ประเภท ประกอบด้วย เงินฝาก หุ้น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และตราสารทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก จะไม่ใช้บังคับกับ มรดกที่เจ้ามรดกตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก รวมทั้ง บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้น เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หรือหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ และบุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะตามประเภทหรือรายชื่อที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีตรวจสอบติดตามไว้ด้วยก็ได้
ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีก็ได้ แต่หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียเบี้ยปรับในกรณีที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้จำนวนภาษีที่ต้องขาดไปให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม
ข่าวเด่น