- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์อุปทานน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ก.ค. 58) ขณะราคาน้ำมันดิบเบรท์ปรับตัวลดลงเช่นกัน หลังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณอุปทานน้ำมันดิบในบริเวณทะเลเหนือในเดือน ก.ย. 58 ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มจากเดือนก่อนหน้าราว 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้มีจำนวนการส่งออกน้ำมันดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นและทำให้ตลาดยิ่งทวีความกังวลต่อสถานการณ์อุปทานล้นตลาด - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงาน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ส.ค. 58 ปรับเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 270,000 ราย สวนทางกับรายงานในรอบสัปดาห์ก่อนหน้าที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 267,000 ราย ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ภาพรวมของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับลดลง 6,500 ราย มาอยู่ที่ระดับ 268,250 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. 58 ทั้งนี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ยังคงต่ำกว่าระดับ 300,000 ราย นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในระยะยาวยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง - ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.ค. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 215,000 ตำแหน่ง โดยชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงสภาวะตลาดแรงงานระยะสั้นที่เริ่มชะลอตัวลง - การขยายตัวในการผลิตของภาคเครื่องจักรของจีน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 58 ขยายตัว 5.7% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 11.2% โดยมีสาเหตุสำคัญจากจำนวนยอดคำสั่งซื้อที่หดตัวลง ตามสภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากแรงสนับสนุนของอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย อย่างไรก็ตาม ตลาดโดยรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณอุทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประเทศไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศเวียดนาม ศรีลังกา และอียิปต์ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันของอุปทานที่ล้นตลาดจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และตะวันออกกลาง ทิศทางราคาน้ำมันดิบ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่่น่าจับตามอง ความกังวลต่อภาวะอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องยังคงสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ โดยกลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตระดับสูง โดยปริมาณการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากอิรักที่เพิ่มปริมาณการผลิตสูงมากขึ้น และซาอุดิอาระเบียที่ยังคงปริมาณการผลิตในระดับที่สูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดและตอบสนองต่อความต้องการในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนของประเทศ ส่งผลให้โดยรวมแล้วปัจจุบันตลาดมีอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินทั้งสิ้นประมาณ 1.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน บริษัทขุดเจาะและผลิตน้ำมันในอเมริกามีแนวโน้มที่จะคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยรวมผู้ผลิตมีการเพิ่มการขุดเจาะทั้งสิ้น 33 แท่น โดยล่าสุดจากการเปิดเผยแผนของผู้ผลิต Shale รายหนึ่ง กล่าวว่าจะยังคงมีการเพิ่มการขุดเจาะประมาณ 2 แท่นต่อเดือนในครึ่งปีหลัง และประมาณ 8 แท่นในครึ่งปีหน้า แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงก็ตาม จับตาทิศทางเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลัง หลังการรายงานดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) ในเดือน ก.ค. มีการปรับลดลงจค่อนข้างมาก โดยมาอยู่ที่ระดับ 47.8 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี สาเหตุของการปรับลดลงเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มส่งออกที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี ในภาคบริการยังคงมีการขยายตัวสวนทางกับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามตลาดหุ้นจีนว่าจะมีแนวโน้มผันผวนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ติดตามสถานการณ์ของกรีซ หลังล่าสุดนายกรัฐมนตรีกรีซ เปิดเผยว่า ใกล้ที่จะได้ข้อสรุปในการบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ในเร็วนี้แล้ว ซึ่งการเจรจาล่าสุดอยู่ในช่วงสุดท้ายแล้ว โดยประเด็นที่ยังคงเห็นต่างกันคือการตั้งกองทุนใหม่สำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และแผนการเพิ่มทุนของภาคธนาคาร โดยโฆษกของรัฐบาลกรีซคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 18 ส.ค. นี้ ซึ่งจะส่งผลให้กรีซไม่ต้องผิดชำระหนี้ในวันที่ 20 ส.ค.มูลค่ากว่า 3.2 พันล้านยูโร
ข่าวเด่น