- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่งตั้งแต่เดือน มี.ค. 52 ซึ่งเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบปรับลดลงครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ปิดซ่อมบำรุงเป็นจำนวนมาก รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบที่ขายออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่อิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจสำเร็จ โดยอิหร่านสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 100,000 บาร์เรลต่อวันภายในปีนี้ และสามารถจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 600,000 บาร์เรลต่อวันภายในปีหน้า
- อุปสงค์น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบ BP ในรัฐ Indiana ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่สุดใน U.S. Midwest มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 413,500 บาร์เรลต่อวัน ได้ทำการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินเพื่อซ่อมแซมรอยรั่วของท่อที่หน่วยแลกเปลี่ยนความร้อนเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา โดยจะต้องหยุดหน่วยกลั่นน้ำมันดิบถึง 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมดลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่จุดส่งมอบน้ำมันดิบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา สิ้นสุดวันที่ 11 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล โดยเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
-/+ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังจากการประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำ โดยตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ปรับเพิ่มมากขึ้นมาสู่ที่ระดับ 0.6% ซึ่งมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -0.3% และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.5% เป็นการบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการขยายตัวในไตรมาส 3
+ จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลให้มีการประกาศจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นภายในปีนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินยังคงได้รับการสนับสนุนจากอุปทานที่ลดลงหลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ปิดซ่อมบำรุง และการลดกำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในจีนและเกาหลีเหนือ
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากทางด้านตะวันตก และอุปทานที่ลดลงจากการลดกำลังการกลั่นลงของโรงกลั่นน้ำมันในแถบเอเซียเหนือ
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาทิศทางเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ โดยล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศการลดค่าเงินหยวนลงเกือบร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี เพื่อกระตุ้นการส่งออกของจีน โดยการลดค่าเงินหยวนครั้งนี้ได้สร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และความวิตกที่จีนยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายในการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการเติบโตที่สมดุล ที่เน้นการเติบโตจากอุปสงค์ภายในประเทศ
ความกังวลต่อภาวะอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากฝั่งของผู้ผลิตนอกและในกลุ่มโอเปก ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงมากกว่าร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ก็ตาม โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีก 6 แท่น สู่ระดับ 670 แท่น (สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ส.ค. 58) ในแหล่ง Permian, Bakken และ Eagle Ford ในขณะที่ ทางฝั่งของกลุ่มโอเปกยังคงกำลังการผลิตในระดับสูงแตะระดับ 31.50 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 3 ปี
ติดตามการแก้ไขวิกฤตหนี้กรีซ หลังจากกรีซสามารถบรรลุข้อตกลงในหลักการกับกลุ่มเจ้าหนี้เพื่อปลดล็อคเงินกู้งวดใหม่เพื่อนำไปชำระหนี้งวดถัดไป โดยล่าสุดกรีซสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ได้สำเร็จ โดยกลุ่มเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และกองทุนเพื่อเสถียรภาพยุโรป (ESM) ได้ตกลงอนุมัติเงินช่วยเหลือกรีซมูลค่า 8.6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งมีระยะเวลาการช่วยเหลือครอบคลุม 3 ปี ทั้งนี้ นับว่ากรีซสามารถผลักดันข้อตกลงเงินกู้เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจกรีซ ทันการชำระหนี้งวดถัดไปราว 3.2 พันล้านยูโรในวันที่ 20 ส.ค. นี้
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีและสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ย (Fed Funds Rate) ในการประชุม ประชุม Fed ในวันที่ 16-17 ก.ย. หลังจากคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (ร้อยละ 0 - 0.25) ตั้งแต่ปี 52 โดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ
ข่าวเด่น