+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสฟื้นตัวเล็กน้อย หลังจากสิ้นสุดสัญญาเดือน ก.ย. 58 โดยปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่มากกว่า 41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.59 หรือประมาณ 0.57 จุด ลงมาอยู่ที่ระดับ 95.789 ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่าราคาน้ำมันดิบมีราคาถูกลง
+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากการก่อตัวของพายุเฮอริเคน Danny ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนลูกแรกของฤดูกาลแอตแลนติกในปี 2015 ถึงแม้ว่าการก่อตัวของพายุลูกนี้จะยังไม่รุนแรงมากโดยมีความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังอยู่ห่างไกลจากชายฝั่งที่มีโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งน้ำมันในสหรัฐฯ ก็ตาม
- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์นั้นยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับแรงกดดันจากตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีดาวน์โจนส์ของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 หรือราว 358 จุดซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือนจากความกังวลในสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของสหภาพยุโรป จากเหตุที่นายอเล็กซิส ซีปราสนายกรัฐมนตรีกรีซได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และสภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซาอยู่ในขณะนี้
- สำหรับระดับน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ประกาศโดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ หรือ EIA วานนี้ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรลขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4,565 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากมีการนำเข้าน้ำมันดิบมากขึ้น รวมไปถึงอัตราการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ได้มีการปรับตัวลดลง
+/- กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ได้ประกาศยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 4,000 ราย มาอยู่ที่ระดับ 277,000 ราย ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 1,000 ราย อย่างไรก็ตามยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ นั้นยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 300,000 รายซึ่งบ่งบอกถึงตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ของสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากปริมาณอุปทานน้ำมันเบนซินที่ล้นตลาด นอกจากนี้อุปสงค์ในภูมิภาคยังคงซบเซา ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มเติมเล็กน้อยจากประเทศอินโดนีเซียก็ตาม
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจาก อุปสงค์ที่น้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังคงเบาบาง แต่อย่างไรก็ตามโรงกลั่นในสิงคโปร์และมาเลเซียมีการปิดซ่อมบำรุงประจำปีทำให้มีอุปทานลดลงในภูมิภาค
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวที่กรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น หลังรัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของญี่ปุ่นรายงานอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/58 ปรับลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคสินค้าและบริการภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง และการประกาศปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลการใช้จ่ายของชาวญี่ปุ่นปรับลดลง ขณะที่ภาคการส่งออกหดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 0.3 อันเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกไปสหรัฐฯ และในเอเชียที่ชะลอตัวลง การที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวส่งผลให้ตลาดมีความกังวลยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่อาจมีแนวโน้มชะลอตัวและส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงได้
แม้ว่าสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของกรีซจะเริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่ตลาดยังคงจับตาทิศทางเศรษฐกิจของกรีซอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ได้อนุมัติข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกรีซฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีการจ่ายเงินกู้งวดแรกให้กับกรีซจำนวน 1.3 หมื่นล้านยูโรจากจำนวนเงินกู้ทั้งหมด 8.6 หมื่นล้านยูโร ได้ทันเวลาก่อนที่กรีซมีกำหนดต้องชำระหนี้ 3.2 พันล้านยูโรต่อธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา
ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวว่าจีนจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ดี ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตัดสินใจขยายระยะเวลาการทบทวนการนำสกุลเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตะกร้าสกุลเงิน SDR (Special Drawing Right) ออกไปอีก 9 เดือน จากเดิมวันที่ 31 ธ.ค.2558 ไปเป็นวันที่ 30 ก.ย.2559 โดย IMF ให้เหตุผลว่ายังคงต้องการใช้เวลาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง
ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ แต่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค.) ปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 แท่น สู่ระดับ 672 แท่น ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังผลิตของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดเปิดเผยอัตราการผลิตน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 8,500 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย.เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ข่าวเด่น