ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันสัปดาห์นี้ ( 24-28 ส.ค.58)


“ราคาน้ำมันดิบถูกกดดันต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่ลดลงในภูมิภาคฯ และภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด”
  

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 41 – 46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 47 – 52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 – 28 ส.ค 58)  

  

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ โดยได้รับแรงกดดันหลักจากอุปสงค์น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มลดลงและความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยล่าสุดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ขณะที่ เศรษฐกิจของจีนก็ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยจีนถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันสูงเป็นอันดับสองของโลก ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจะหดตัวและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
  

ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น หลังรัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของญี่ปุ่นรายงานอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/58 ปรับลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาสและชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตในไตรมาส 1 ที่ร้อยละ 4.5 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคสินค้าและบริการภาคเอกชน  และการประกาศปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลการใช้จ่ายของชาวญี่ปุ่นปรับลดลง ขณะที่ภาคการส่งออกหดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 0.3 อันเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกไปสหรัฐฯ และในเอเชียที่ชะลอตัวลง การที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวส่งผลให้ตลาดมีความกังวลยิ่งขึ้นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่อาจมีแนวโน้มชะลอตัวและส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบอาจปรับตัวลดลงได้
  

ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวว่าจีนจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ดี ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตัดสินใจขยายระยะเวลาการทบทวนการนำสกุลเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าสกุลเงิน SDR (Special Drawing Right) ออกไปอีก 9 เดือน จากเดิมวันที่ 31 ธ.ค.2558 เป็นวันที่ 30 ก.ย.2559 โดย IMF ให้เหตุผลว่าต้องการใช้เวลาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้พยายามส่งเสริมให้สกุลเงินหยวนมีบทบาทสำคัญในเวทีตลาดเงินโลกมากยิ่งขึ้น โดยผลักดันให้เงินสกุลหยวนกลายเป็นส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ SDR ของ IMF เพิ่มขึ้นในตะกร้าสกุลเงินปัจจุบันที่ ประกอบด้วย เงินดอลลาร์สหรัฐฯ, เงินยูโร, เงินเยน และเงินปอนด์อังกฤษ เท่านั้น
  

ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ แต่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค.) ปรับเพิ่มขึ้นอีก 2 แท่น สู่ระดับ 672 แท่น ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังผลิตของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้  ข้อมูลล่าสุดเปิดเผยอัตราการผลิตน้ำมันดิบในรัฐ North Dakota ของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 8,500 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย.เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
  

ปริมาณนํ้ามันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค. 58 ว่าปรับเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล แตะที่ระดับ 456.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 777,000 บาร์เรล ทางด้านปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 326,000 บาร์เรล แตะที่ระดับ 57.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี EIA ได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2558 ลงร้อยละ 1.2 จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้ามาอยู่ที่ 9.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปรับลดคาดการณ์ปี 2559 ลง 0.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 8.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เคลื่อนไหวในระดับต่ำอาจจะส่งผลให้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบปรับลดปริมาณการผลิตลงได้
  

แม้ว่าสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของกรีซจะเริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่ตลาดยังคงจับตาทิศทางเศรษฐกิจของกรีซอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ได้อนุมัติข้อตกลงให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกรีซฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา  ทำให้มีการจ่ายเงินกู้งวดแรกให้กับกรีซจำนวน 1.3 หมื่นล้านยูโรจากจำนวนเงินกู้ทั้งหมด 8.6 หมื่นล้านยูโร ได้ทันเวลาก่อนที่กรีซมีกำหนดต้องชำระหนี้ 3.2 พันล้านยูโรต่อธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ความเชื่อมันผู้บริโภค ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ จีดีพี Q2/15 และรายได้ส่วนบุคคลสุทธิของสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 ส.ค. 58)

  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 40.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.57 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 45.46 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 46 เหรียญสหรัฐฯ โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ยังคงล้นตลาด หลังผู้ผลิตสหรัฐฯ ยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีการเพิ่มแท่นขุดเจาะต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์ติดต่อกัน แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นน้ำในสหรัฐฯ มีปริมาณการผลิตลดลง เนื่องจากโรงกลั่นแห่งหนึ่งทางตะวันตกของสหรัฐฯ หยุดดำเนินการผลิตลงอย่างกะทันหัน

 


บันทึกโดย : วันที่ : 24 ส.ค. 2558 เวลา : 12:28:20

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:47 pm