+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกที่น่าจะลดลง ส่งผลให้นักลงทุนและกองทุนทำการซื้อกลับ (Short Covering) เพื่อปิดสถานะชอร์ตเซลก่อนหน้านี้ (Short) ล่าสุดทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้ออกมาปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ หลังได้เปลี่ยนวิธีการคำนวณปริมาณน้ำมันดิบโดยเก็บตัวเลขจากผู้ผลิตเองแทนที่จะขอข้อมูลจากรัฐฯ และข้อมูลจากแหล่งที่ 3 โดยปริมาณการผลิตในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า และลดลง 250,000 บาร์เรลต่อวันจากรายงานครั้งก่อน
+ ประกอบกับ ล่าสุดกลุ่มโอเปกค่อนข้างกังวลกับปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำและพร้อมที่จะเจรจากับผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก ว่าจะปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ เวเนซุเอลาได้มีการเรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินขึ้น โดยให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกร่วมกับรัสเซีย ในการหามาตรการกระตุ้นราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงขึ้น อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียถึงการเจรจาเพิ่มเติมกับผู้ผลิตรายอื่น
+ ผู้ผลิตน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่สุดในแคนาดาได้หยุดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบสังเคราะห์ (Synthetic Crude) ประมาณ 326,000 บาร์เรลต่อวัน จากโปรเจคออยล์แซนด์ส ทางตอนเหนือของรัฐอัลเบอร์ต้าลง หลังเกิดเพลิงไหม้ส่งผลกระทบต่อท่อขนส่งบริเวณหน่วยกำจัดกำมะถันและหน่วยควบคุมสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องหยุดดำเนินการผลิตลง นอกจากนั้นผู้ผลิตอีกรายได้มีการหยุดการผลิตในโครงการทางตอนเหนือของรัฐอัลเบอร์ต้าลงเช่นกันหลังมีคำสั่งให้มีการหยุดดำเนินการโดยเจ้าหนี้ภาครัฐฯ สำหรับโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 50,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ผลดังกล่าวจะทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากแคนาดาไปสหรัฐฯ ลดลงและทำให้สหรัฐฯ ต้องนำเข้าน้ำมันดิบหนัก (Heavy Crude) จากต่างประเทศมากขึ้น
+ ผลการสำรวจของนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ส.ค. จะปรับลดลงประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรล ต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ปรับลดลงกว่า 5.5 ล้านบาร์เรล หลังผู้ผลิตมีแนวโน้มจะมีการนำเข้าลดลง ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล หลังอุปสงค์ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังคาดจะปรับเพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินในตลาดที่สูงมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มการส่งออกของจีนตามโควตาส่งออกที่สูงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อของอินโดนีเซียที่คาดว่าจะนำเข้าประมาณ 9.0 ล้านบาร์เรลในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการส่งออกจากจีนที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากหลังอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากแรงซื้อจากเวียดนามที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางและมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ทำให้นักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในครั้งถัดไปในเดือน ก.ย.ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับต่ำในปัจจุบันออกไปก่อน ทำให้นักลงทุนโดยส่วนใหญ่คลายกังวลลง อย่างไรก็ดี ด้วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นทำให้ FED อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 3 ก.ย. ว่าจะมีการปรับเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) หรือยืดระยะเวลาของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือไม่ หลังการปรับตัวลดลงอย่างหนักของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนอาจจะทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนอาจจะชะลอตัวลงและทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยปัจจุบัน ECB มีการเข้าซื้อสินทรัพย์กว่า 6 หมื่นล้านยูโรทุกเดือน โดยนโยบายดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ มี.ค. 58 และจะสิ้นสุดใน ก.ย. 59
สถานการณ์ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจจีนว่าจะมีทิศทางอย่างไร หลังการปรับลดลงของตลาดหุ้นจีนในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าของตลาดหุ้นจีนหายไปกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังการรายงานดัชนีการผลิต (Caixin PMI) พบว่ายังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า หลังยอดคำสั่งซื้อปรับลดลง
ปริมาณนํ้ามันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่อาจไม่ปรับลดลงต่อเนื่อง แม้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีการปรับลดลงมากถึง 5.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 450.8 ล้านบาร์เรลก็ตาม แต่การปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังดังกล่าวเกิดจากผลของการนำเข้าที่ลดลง ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนยังคงกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะชอตัวลงหลังสิ้นสุดฤดูขับขี่ของสหรัฐฯและโรงกลั่นน้ำมันโดยส่วนใหญ่ที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงอีกครั้ง จะทำให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังปรับเพิ่มขึ้นและสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ
ข่าวเด่น