- ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัสปรับลดหลังโรงกลั่นน้ำมัน Exxon Mobil ในรัฐหลุยส์เซียน่า ต้องปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบขนาด 502,500 บาร์เรลต่อวัน ในวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังพบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องทำไอน้ำภายในหอกลั่น ขณะที่โรงกลั่นน้ำมัน Valero Energy Corp. ในรัฐเท็กซัส ปิดซ่อมหน่วย Hydrocracking ขนาด 45,000 บาร์เรลต่อวัน และโรงกลั่นน้ำมัน Illinois ในรัฐวู้ดรีเวอร์ เริ่มปิดหน่วยกลั่นน้ำมันดิบขนาด 182,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อเตรียมสำหรับการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นที่จะเริ่มในวันที่ 11 ก.ย. ที่จะมาถึง ส่งผลให้อุปสงค์การใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลง - แม้ว่าตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ถูกรายงานโดยสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) และสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) จะถูกเลื่อนกำหนดประกาศไปเป็นวันพุธและพฤหัส เนื่องจากวันแรงงาน แต่นักวิเคราะห์จากรอยเตอร์คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ก.ย. จะปรับเพิ่มขึ้นราว 200,000 บาร์เรล ซึ่งส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ - นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศจีนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ13.4 หรือประมาณ 6.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าประเทศจีนนำเข้าน้ำมันดิบค่อนข้างมากในช่วง 7 เดือนแรกของปีซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับต่ำเพื่อเติมเต็มปริมาณน้ำมันดิบสำรองในประเทศ โดยมีประมาณสิ้นสุด ณ เดือน ก.ค.รวมมากถึง 109 ล้านบาร์เรล + ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวสูงขึ้นหลังตัวเลขเศรษฐกิจ GDP ของกลุ่มประเทศยูโรโซนปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีในประเทศอิตาลีและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในประเทศกรีซ โดยตัวเลข GDP เฉลี่ยของกลุ่มยูโรโซนในช่วงไตรมาสสองปรับตัวสูงขึ้นราวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 1.5 จากปีก่อนหน้า หลังได้รับแรงหนุนจากการบริโภคสินค้าภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายของภาครัฐที่ดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขการลงทุนหดตัวลง ทั้งนี้ ตัวเลขที่ประกาศยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตัวเลขเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ยังคงทรงตัวภายในภูมิภาค ประกอบกับ อุปทานที่คาดการณ์ว่าจะตึงตัวขึ้นเนื่องจากโรงกลั่นหลายแห่งเริ่มเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปีในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดีเซลยังคงล้นตลาดประกอบกับอุปสงค์ในภูมิภาคยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลยังคงถูกกดดันอยู่ อย่างไรก็ดี อุปสงค์ที่ดีในแอฟริกาตะวันออกส่งผลให้ภูมิภาคสามารถส่งสินค้าออกไปขายได้ ทิศทางราคาน้ำมันดิบ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 47-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่น่าจับตามอง จับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีกำหนดจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ว่าจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้หรือไม่ โดยผลสำรวจล่าสุดจาก Bloomber พบว่าโพลที่คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้มีเพียง 48% ถือว่าลดลงจากการสำรวจเมื่อเดือนที่ 77% อย่างไรก็ดี นางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ย้ำว่ามีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ก.ย. ของสำนักสารสนเทศน์ด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ในวันที่ 9 ก.ย. และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ในวันที่ 11 ก.ย. นี้ ว่าจะมีการปรับเพิ่ม/ลด คาดการณ์ความต้องการใช้และอุปทานน้ำมันดิบอย่างไร รวมถึงมุมมองต่อทิศทางราคาน้ำมันในปีนี้และปีหน้า กลุ่มโอเปกแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ และพร้อมที่จะเจรจากับผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคา ล่าสุดเวเนซุเอลาได้พยายามติดต่อประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มโอเปก เพื่อผลักดันการจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นร่วมกับรัสเซีย และมุ่งหามาตรการเพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงอย่างแรง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสัญญาณจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียถึงการเจรจาเพิ่มเติมกับผู้ผลิตรายอื่น ติดตามทิศทางเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตจีน (PMI) ประจำเดือน ส.ค. 58 ที่ออกมาหดตัว ซึ่งถือว่าหดตัวมากที่สุดในรอบ 3 ปี ส่งผลให้นักลงทุนวิตกมากขึ้นว่าประเทศจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อาจกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะชะลอตัวรุนแรง
ข่าวเด่น