- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง จากความกังวลของปริมาณอุปทานในแถบทะเลเหนือที่ปรับเพิ่มขึ้น และอุปทานที่ยังคงล้นตลาดจากการผลิตน้ำมันดิบของประเทศกลุ่มโอเปก นอกจากนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และสถานการณ์ตลาดการเงินที่ขาดเสถียรภาพ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบปรับลดลง ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันตลาดน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง
+/- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปิดปรับลดลง จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสระหว่างวันมีการเคลื่อนไหวปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแรงหนุนของค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลงมติด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 1 ในการประชุมวานนี้ (17 ก.ย. 58) ให้คงอัตราดอกเบี้ยในช่วง 0%-0.25% ต่อไป เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และตลาดการเงินที่ขาดเสถียรภาพ
+ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 2.0%-2.3% จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ที่ 1.8%-2.0% และปรับลดอัตราการว่างงานในปี 58 มาอยู่ที่ระดับ 5.0%-5.1% ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าในเดือน มิ.ย. ที่ 5.2%-5.3%
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ย. 58 ปรับลดลง11,000 ราย สู่ระดับ 264,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี และสวนทางกับที่คาดว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานจะอยู่ที่ระดับคงเดิม นอกจากนี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับตัวลดลง 3,250 ราย มาอยู่ที่ระดับ 272,500 ราย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดัชนีบ้านในเดือน ส.ค. 58 ปรับตัวลดลง 3% มาอยู่ที่ระดับ 1.126 ล้านยูนิต ลดลงมากกว่าที่คาดว่าจะปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 1.168 ล้านยูนิต ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงตลาดอสังหาริมทัพย์ของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงหลังสิ้นสุดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลฮัจญ์ และอุปทานที่มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในช่วงเดือน ต.ค.
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ประกอบกับอุปทานที่มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในช่วงเดือน ต.ค.
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีน หลังดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) ในเดือน ก.ย. คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สร้างความกังวลว่าในไตรมาส 3 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตน้อยกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 7 ซึ่งผลกระทบดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคน้ำมันของจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 2 ของโลก ขณะที่สถานการณ์ตลาดหุ้นจีนก็ยังเป็นที่น่าจับตามอง หลังยังคงเผชิญกับความผันผวน แม้ว่าคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของจีน หรือ CSRC และรัฐบาลจีนจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดความผันผวนแต่ก็ไม่สามารถลดความผันผวนของตลาดหุ้นลงได้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องหลังราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยรายงานล่าสุดของ EIA พบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ย. ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบซึ่งรายงานโดย Baker Hughes น่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังจากเมื่อ 3 สัปดาห์ล่าสุดปรับลดลงมาแล้วกว่า 30 หลุม
ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังคงไม่มีที่ว่าจะลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ โดยยังคงผลิตน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่สูงกว่า 31 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการผลิตล่าสุดในเดือน ส.ค. อยู่ที่ประมาณ 31.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกได้แก่ คูเวต อิหร่าน ยังปรับลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) ที่จะขายไปยังตลาดเอเชียในเดือน ต.ค. ลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดราคาขายน้ำมันดิบไปเมื่อช่วงต้นเดือน
การลงมติคัดค้านการยกเลิกคว่ำบาตรของ Republican ที่ไม่เป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่สหรัฐฯ จะยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานในตลาดในตลาดเพิ่มมากขึ้นและกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม อิหร่านจะยังคงไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มได้ในเร็วนี้ เนื่องจากต้องรอรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) วันที่ 15 ธ.ค. ก่อนเพื่อรอผลตรวจสอบว่าอิหร่านมีการปฎิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวจริง
ข่าวเด่น