- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่องตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปที่ร่วงหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกโรงเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งท่าทีของโอเปกเองที่ยังคงผลิตน้ำมันในปริมาณมากเพื่อรักษาตลาดลูกค้าของตนอาจส่งผลให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกยังคงล้นตลาดต่อเนื่อง
- ตัวแทนเปกจากคูเวตกล่าวในที่ประชุมที่สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตต์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า กลุ่มโอเปกยืนยันที่จะผลิตน้ำมันดิบในปริมาณสูงต่อเนื่องเพื่อจะยึดมั่นแนวทางของกลุ่มที่จะรักษาฐานลูกค้าไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง แม้ว่าสมาชิกในกลุ่มโอเปกอาจได้รับผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันตกต่ำอยู่บ้างในช่วงนี้ พร้อมกันนี้สมาชิกโอเปกยังมีความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นได้เพียงปีละไม่เกิน 5 เหรียญฯ โดยจะกลับไปแตะระดับ 80 เหรียญฯ ได้อีกครั้งในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มมองว่าเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงในตอนนี้เป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันและคาดว่าเศรษฐกิจจีนรวมถึงการใช้น้ำมันในจีนจะยังคงขยายตัวต่อไป
-/+ นาย Rokneddin Javadi รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิหร่านเผยผ่านเวปไซต์ของกระทรวงว่า อิหร่านเตรียมเปิดการเจรจาเพื่อเริ่มสัญญาการพัฒนาโครงการขุดเจาะน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติต่างๆ กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งการเตรีมการนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมหลังมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันอิหร่านจะสิ้นสุดลงในปีหน้า โดยอิหร่านยังวางแผนที่จะส่งออกมากขึ้นเพื่อเรียกฐานลูกค้ากลับมา อย่างไรก็ดี อิหร่านมองว่าแม้การผลิตจากอิหร่านจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันในปีหน้าก็จะไม่ตกลงไปอยู่ที่ระดับ 45-50 เหรียญฯ
+ รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ย. โดย Baker Hughes พบว่ายังคงมีการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งล่าสุดรับลดลงอีก 8 หลุม มาอยู่ที่ 644 หลุม ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการปรับลดลงนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงมาอีกครั้งนับแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ ล่าสุดตามรายงานของ EIA ก็มีการปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย.
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดคาดอุปทานในตลาดจะตึงตัวเล็กน้อยเนื่องจากมีโรงกลั่นหลายแห่งหยุดซ่อมบำรุงและลดกำลังผลิตลงในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังทั่วโลกทั้งสิงคโปร์ สหรัฐฯ และยุโรปเองยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกของจีนที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากจีนมีโรงกลั่นเพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ดัชนีภาคการผลิตจีน (Caixin PMI) เดือน ก.ย. ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะออกมาอยู่ในระดับหดตัวอาจส่งผลให้ภาพรวมจีดีพีของจีนปีนี้เติบโตน้อยกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 7 ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีนให้ปรับลดลงด้วย ขณะที่สถานการณ์ตลาดหุ้นจีนก็ยังคงผันผวนและเป็นที่น่ากังวลเช่นกัน แม้คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของจีนหรือ CSRC และรัฐบาลจีนจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดความผันผวนลงแล้วก็ตาม
การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกที่ยังไม่มีท่าทีจะลดปริมาณยังคงส่งผลกดดันราคาน้ำมัน โดยโอเปกล่าสุดในเดือน ส.ค. ยังคงผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับสูงราว 31.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปก ได้แก่ ซาอุฯ คูเวต อิหร่าน ยังคงปรับลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) ที่จะขายไปยังตลาดเอเชียในเดือน ต.ค. ลงเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นด้วย
การลงมติคัดค้านการยกเลิกคว่ำบาตรของ Republican ที่ไม่เป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหรัฐฯ จะยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานในตลาดในตลาดเพิ่มมากขึ้นและกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม อิหร่านจะยังคงไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากหลายฝ่ายยังคงรอรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) วันที่ 15 ธ.ค. ก่อนเพื่อรอผลตรวจสอบว่าอิหร่านมีการปฎิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวจริง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบซึ่งรายงานโดย Baker Hughes ที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน อาจส่งแรงหนุนให้ราคาปรับลดลงไม่มากนัก
ข่าวเด่น