+/- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 เซนต์มาปิดอยู่ที่ 49.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ นั้นได้ปรับตัวลดลง 85 เซนต์มาปิดอยู่ที่ 45.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงเปิดตลาด แต่ได้ดีดตัวกลับขึ้นมาจากเหตุปิดซ่อมท่อขนส่งน้ำมันเบนซิน และข้อมูลปริมาณน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ โดยสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API)
+ Colonial Pipeline บริษัทขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปทางท่อ เปิดเผยว่า ได้มีการปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปบางส่วนของบริษัท รวมไปถึงท่อขนส่งน้ำมันที่มีกำลังการส่งน้ำมันเบนซินและ Distillates ประมาณ 850,000 บาร์เรลจากรัฐนอร์ธแคโรไลน่า ไปยังรัฐนิวเจอร์ซีย์ ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่า การปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมันครั้งนี้ อาจจะทำให้สหรัฐฯ ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มจากยุโรปมากขึ้น
+ สถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ ได้รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสำรองของสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีการปรับตัวลดลงประมาณ 3.7 ล้านบาร์เรล โดยเฉพาะคลังน้ำมันดิบ ณ เมืองคุชชิ่ง รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ มีปริมาณน้ำมันดิบคงคลังลดลงประมาณ 500,000 บาร์เรลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
+ นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังดัชนีราคาบ้านสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.4% ทั้งนี้ดัชนีราคาบ้านสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ เป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ดีในภูมิภาค โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซียที่ยังมีความต้องการนำเข้าน้ำมันเบนซินอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปทานที่ตึงตัวหลังโรงกลั่นน้ำมันทั้งในและนอกภูมิภาคหลายแห่งเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ถึงแม้ว่าแรงหนุนของอุปทานที่ตึงตัวหลังโรงกลั่นน้ำมันทั้งในและนอกภูมิภาคหลายแห่งเข้าสู่ช่วงปิดซ่อมบำรุง และอุปสงค์เพิ่มเติมจากแอฟริกาตะวันตก แต่ยังคงมีอุปทานที่เข้ามาในตลาดในภูมิภาคจากประเทศอินเดียและมาเลเซียอยู่
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ดัชนีภาคการผลิตจีน (Caixin PMI) เดือน ก.ย. ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะออกมาอยู่ในระดับหดตัวอาจส่งผลให้ภาพรวมจีดีพีของจีนปีนี้เติบโตน้อยกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 7 ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีนให้ปรับลดลงด้วย ขณะที่สถานการณ์ตลาดหุ้นจีนก็ยังคงผันผวนและเป็นที่น่ากังวลเช่นกัน แม้คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของจีนหรือ CSRC และรัฐบาลจีนจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดความผันผวนลงแล้วก็ตาม
การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกที่ยังไม่มีท่าทีจะลดปริมาณยังคงส่งผลกดดันราคาน้ำมัน โดยโอเปกล่าสุดในเดือน ส.ค. ยังคงผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ระดับสูงราว 31.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปก ได้แก่ ซาอุฯ คูเวต อิหร่าน ยังคงปรับลดราคาขายน้ำมันดิบ (OSPs) ที่จะขายไปยังตลาดเอเชียในเดือน ต.ค. ลงเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นด้วย
การลงมติคัดค้านการยกเลิกคว่ำบาตรของ Republican ที่ไม่เป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหรัฐฯ จะยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานในตลาดในตลาดเพิ่มมากขึ้นและกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม อิหร่านจะยังคงไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากหลายฝ่ายยังคงรอรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) วันที่ 15 ธ.ค. ก่อนเพื่อรอผลตรวจสอบว่าอิหร่านมีการปฎิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวจริง
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดในเดือน มิ.ย. 58 ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบซึ่งรายงานโดย Baker Hughes ที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน อาจส่งแรงหนุนให้ราคาปรับลดลงไม่มากนัก
ข่าวเด่น