ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันสัปดาห์นี้ ( 5-9 ต.ค.58)


แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 5 – 9 ต.ค. 58)  
  

ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นที่ยังคงชะลอตัว โดยล่าสุดดัชนีภาคการผลิต (NBS PMI) ในเดือน ก.ย. ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจาก ความไม่สงบในตะวันออกกลาง รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และตัวเลขจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา    

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  

ติดตามทิศทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยล่าสุดตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มจะเดินหน้าดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป หลังจากที่ได้มีการเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (Tankan Report) ประจำไตรมาส 3 ของปี 2558 โดยระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ลดลงมาอยู่ที่ +12 จากระดับ +15 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ +25 จาก +23 ในไตรมาส 2 ปีนี้ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ +20 นอกจากนี้ รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทขนาดใหญ่ในทุกภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านทุน (Capital Expenditure) อีกประมาณ 10.9% ในปีงบการเงินที่จะสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2559
  

ติดตามทิศทางสถานการณ์เศรษฐกิจของจีน หลังมีการเผยดัชนีภาคการบริการของจีน (Caixin PMI) ในเดือน ก.ย. ที่ปรับตัวลดลงจาก 51.5 จุด ในเดือน ส.ค. มาอยู่ที่ระดับ 50.5 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน และดัชนีภาคการผลิตของจีน (Caixin PMI) ในเดือน ก.ย. ลดลงมาอยู่ที่ 47.2 จุด ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีครึ่ง จาก 47.3 ในเดือน ส.ค. อย่างไรก็ดี สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ยังได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (NBS PMI) ในเดือน ก.ย. ที่ 49.8 จุด จากระดับ 49.7 จุด ในเดือน ส.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในภาคการผลิตของจีนมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือน ก.ย. แต่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งหากดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 จุด ก็จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
  

ในสัปดาห์นี้มีการคาดการณ์ว่าพายุ เฮอร์ริเคน โจควิน (Joaquin) ในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ได้ทวีกำลังจากพายุโซนร้อนเป็น เฮอร์ริเคน  ระดับ 3 จะเคลื่อนตัวสู่หมู่เกาะบาฮามาสในมหาสมุทรแอตแลนติก และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ รวมถึง New York Harbor ซึ่งเป็นจุดส่งมอบหลักของน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลในสหรัฐฯ ทั้งนี้ พายุดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายแก่การขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ และอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่น 9 แห่งในฝั่งตะวันออก (U.S. East Coast) ซึ่งมีความสามารถในการกลั่นราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  

ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศซีเรียและอิรักหลังถูกคุกคามอย่างหนักจากกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) โดยกลุ่มไอเอสได้ยึดพื้นที่เศรษฐกิจหลัก รวมถึงบ่อน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของประเทศไปเกือบทั้งหมด  ล่าสุด รัฐบาลรัสเซียและซีเรีย ได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในหลายจังหวัดของซีเรียในวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังจากวุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อนุญาตให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ส่งกำลังทหารเข้าไปในซีเรียได้ โดยนายอิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซีย แถลงว่าเครื่องบินรบของรัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายของกลุ่มไอเอส ในซีเรียแล้ว
  

จํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซในสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวลดลง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจํานวนแท่นขุดเจาะนํ้ามันและก๊าซในสหรัฐฯ ลดลงอีก 4 หลุม เหลือ 640 หลุม สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 25 ก.ย.58 ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. หลังจากที่ลดลงไปกว่า 31 หลุมเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ก็เริ่มปรับลดลงด้วยเช่นกัน  โดยลดลงจาก 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากประมาณช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึงกลางเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ราว 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อสัปดาห์ล่าสุด ทั้งนี้ สำนักสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้ออกมาเผยคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ในปี 2559 ว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 8.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปีหน้าจะลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 190,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 130,000 บาร์เรลต่อวัน
  

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคบริการยูโรโซนและสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกยูโรโซน ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรญี่ปุ่น และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ก.ย. – 2 ต.ค.)
  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง  0.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 45.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 48.13 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 46 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยผลกำไรเดือน ส.ค. ของบริษัทอุตสาหกรรมของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคเป็นอันดับสูงสุดในโลกนั้น ปรับลดลงอย่างรวดเร็วในรอบ 4 ปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้ได้รับแรงหนุนจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้ผลิตชะลอการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบลงในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบตกต่ำ รวมถึงได้รับอานิสงค์จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ต.ค. 2558 เวลา : 13:47:11

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:04 pm