ตลาดหุ้นอเมริกาและยุโรปปิดตลาดเมื่อคืนนี้ ( 5 ต.ค.) ปรับตัวสูงขึ้นทุกกระดาน โดยดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 16,776.43 จุด เพิ่มขึ้น 304.06 จุด หรือ +1.85% , ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,781.26 จุด เพิ่มขึ้น 73.48 จุด หรือ +1.56% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,987.05 จุด เพิ่มขึ้น 35.69 จุด หรือ +1.83%
ขณะตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี Stoxx Europe 600 พุ่งขึ้น 3% ปิดที่ 358.33 จุด ,ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ปิดที่ 4,616.90 จุด เพิ่มขึ้น 158.02 จุด หรือ +3.54% , ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมัน ปิดที่ 814.79 จุด เพิ่มขึ้น 261.72 จุด, +2.74% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดที่ 6,298.92 จุด เพิ่มขึ้น 168.94 จุด เพิ่มขึ้น 2.76%
โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกติดต่อกัน 2 วันทำการ จากแรงหนุนการคาดการณ์ของตลาดที่มองธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานเมื่อวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 200,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 5.1% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์
ประกอบกับ ความอ่อนแอของข้อมูลภาคบริกา รซึ่งสหรัฐเปิดเผยล่าสุดนั้น ยิ่งตอกย้ำว่าโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยลง โดยสถาบันจัดการอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 56.9 ในเดือนก.ย. จากระดับ 59 ในเดือนส.ค. โดยตัวเลขเดือนก.ย.เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา หรือในรอบสามเดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงแตะที่ 57.5
ขณะที่มาร์กิต อิโคโนมิกส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 55.1 ในเดือนก.ย. ปรับตัวลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ 55.6 และลดลงจากระดับ 56.1 ในเดือนส.ค. โดยนาย คริส วิลเลียมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมาร์กิตระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอในไตรมาสสาม เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจ PMI โดยลดลงมาขยายตัวที่ราว 2.2% อย่างไรก็ดี การชะลอตัวดังกล่าวนั้นมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่เศรษฐกิจดีดตัวแข็งแกร่งในไตรมาสสอง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาขยายตัวในระดับปานกลาง สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยในระยะยาว
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปที่ปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โดยหุ้นเกลนคอร์พุ่งขึ้น 21% หลังจากที่ทำสถิติทะยานขึ้น 72% ที่ตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่บริษัทจดทะเบียนในปี 2554 หุ้นเกลนคอร์ได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่า ทางบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเพื่อสนับสนุนการเงินของบริษัท นอกจากนี้มีรายงานว่า กองทุนความมั่งคั่งของสิงคโปร์, บริษัทมิตซุยแอนด์โคของญี่ปุ่น และกองทุนบำนาญของแคนาดา ได้แสดงความสนใจที่จะซื้อหุ้นในธุรกิจการเกษตรของเกลนคอร์
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศยุโรป ที่มาร์กิตเปิดเผยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของยูโรโซนในเดือนก.ย.ปรับตัวลงแตะ 53.7 จาก 54.4 ในเดือนส.ค. และลดลงเมื่อเทียบกับข้อมูลเบื้องต้นที่ 54.0 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการของเยอรมนีในเดือนก.ย.ลดลงที่ 54.1 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 54.9 ในเดือนส.ค. ทั้งนี้ ดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวของภาคบริการ ส่วนระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภาคบริการหดตัวลง
ข่าวเด่น