ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปตท.รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันและแนวโน้มสัปดาห์นี้


สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวเพิ่มขึ้น  3.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 3.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
          ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในซีเรียทวีความรุนแรงและขยายขอบเขต หลังจากรัสเซียใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดกลุ่ม Islamic State (IS) อย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง และยิงจรวดร่อน จากเรือรบในทะเลแคสเปียนข้ามอิหร่านและอิรัก ขณะที่อิหร่านส่งทหารหลายร้อยนายโจมตีกลุ่ม IS ภาคพื้นดิน ทำให้สงครามกลางเมืองในซีเรียมีแนวโน้มขยายตัวเป็นสงครามระดับภูมิภาค
           EIA ปรับคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 93.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 0.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน  จากการคาดการณ์ครั้งก่อน) และในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 95.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 0.10 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อน) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปี
          Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ต.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น  มาอยู่ที 605 แท่น ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 53
          Reuters รายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Buzzard (186,000 บาร์เรลต่อวัน) ในทะเลเหนือ มีแผนปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 58 เป็นเวลา 8-12 วันโดยคาดว่าแหล่งผลิตดังกล่าวจะสามารถกลับมาดำเนินการเต็มกำลังได้ภายใน 2-3 วันหลังจากการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ
         Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ต.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะซื้อสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 19,298 สัญญา มาอยู่ที่ 167,072 สัญญา  
          กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงาน การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payroll) เดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  142,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 5.1%  โดยการจ้างงานในภาคสาธารณะสุขและเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นขณะที่การจ้างงานของอุตสาหกรรมถ่านหินลดลง
         Standard & Poor's ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศสเปนขึ้น 1 ขั้น จาก BBB เป็น BBB+ และให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ หลังรัฐบาลได้ทำการปฏิรูปด้านต่างๆ จนส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การปฏิรูปด้านแรงงานตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการและส่งออก

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
         

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 2558 และ 2559 จากประมาณการณ์ครั้งก่อน ในเดือน เม.ย. 58 ลดลง 0.4 % และลดลง 0.2 % มาอยู่ที่ 3.1 % และ 3.6 %  ตามลำดับ
           สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นรายงานยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐาน (Core Machinery Order) ที่ใช้ชี้วัดการใช้จ่ายเพื่อลงทุน) ในเดือน ส.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 5.7 % สวนทางกับการคาดการณ์จากผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่มองว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.6 % อาจทำให้ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (Bank of Japan หรือ BOJ) ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้นจากที่เคยคาดว่าจะดำเนินการในเดือน ม.ค. 59
            Energy Information Administration (EIA) รายงานสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบผ่านข้อยกเว้นรวมกับน้ำมันสำเร็จรูป ในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 48,000 บาร์เรลต่อวัน    ทั้งนี้สหรัฐฯ มีศักยภาพทางด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้นหลังจากเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานแพร่หลาย (Shale Revolution) โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 58 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนถึง 64% มาอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
             กระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก (KRG) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากรัฐบาล KRG ผ่านท่อขนส่ง Ceyhan ประเทศตุรกีในเดือน ก.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.9 ล้านบาร์เรล    มาอยู่ที่ระดับ 18.61 ล้านบาร์เรล หรือ 0.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน        

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
           

ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ผันผวนโดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับเพิ่มขึ้นจากจำนวนแท่นผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลง 6 สัปดาห์ต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลง ผนวกกับการสู้รบในซีเรียทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในตลาด Futures ทำให้ Net Long Position เพิ่มขึ้น ด้านเศรษฐกิจรองประธานธนาคารกลางจีนกล่าวว่า จีนอยู่ระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในอนาคต ซึ่งรวมถึงการปล่อยให้ตลาดเป็นผู้กำหนดทิศทางค่าเงินหยวนมากขึ้น ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ หลังประธาน FED สาขานิวยอร์ก นาย William C. Dudley เห็นว่า FED ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในเดือน ธ.ค. 58 หากอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นไปตามที่คาดการณ์ แม้ว่าการจ้างงานในเดือน ก.ย. 58 จะชะลอลง แต่ยังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่นาย Jeffrey Lacker ประธาน FED สาขาริชมอนด์ กล่าวว่า FED กำลังจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะร้อนแรงเกินไป เพราะการจ้างงานปัจจุบันอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว หากผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคต อย่างไรก็ตามพรรค Republican ผลักดันการส่งออกน้ำมันดิบที่ผลิตในสหรัฐฯ โดยยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พิจารณาและสภาฯ มีมติผ่านร่างกฎหมาย แต่กฎหมายดังกล่าวมีแนวโน้มถูกคว่ำบาตรโดยประธานาธิบดี Obama อนึ่งหากสหรัฐฯสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้จะทำให้อุปทานน้ำมันดิบชนิดเบาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทางด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคา ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  49.78-54.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, Dubai อยู่ที่ 46.90-51.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ที่ 46.48-51.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
            

สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากข่าว  โรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 540 ,000 บาร์เรลต่อวัน)  ของบริษัท Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ประเทศไต้หวัน ปิดฉุกเฉินหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracking (RFCC: 84,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ต.ค.นี้ เนื่องจากไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ต้องเลื่อนการส่งมอบน้ำมันเบนซิน จากเดือน ต.ค. 58 จำนวน 2 เที่ยวเรือ ออกไปเป็น พ.ย. 58 และ State Oil Marketing Organization (SOMO) ของอิรักออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน แบบสัญญาระยะยาว 1 ปี ปริมาณรวมอย่างน้อย 18.9 ล้านบาร์เรล ส่งมอบปี 2559 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES)รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ต.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.16 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.29 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบปี อย่างไรก็ตาม Pertamina ของอินโดนีเซียชี้ว่าจะลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินตั้งแต่เดือน ต.ค. 58 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดมีความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลง อีกทั้งโรงกลั่นน้ำมัน Cilacap (กำลังการกลั่น 348,000 บาร์เรลต่อวัน) จะกลับมาดำเนินการหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracker ใหม่ (ขนาด 62,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในขั้นต้นจะผลิตน้ำมันเบนซินได้ 30,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Condensate Splitter (ผลิตน้ำมันเบนซินได้ 61,000 บาร์เรลต่อวัน) ส่งผลให้ผู้ค้าคาดว่า Pertamina จะนำเข้าลดลงจากเดือนก่อน 0.40 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 223.9 ล้านบาร์เรล  สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.65-69.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

        สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมัน Yanbu Aramco Sinopec Refining Co. หรือ YASREF (กำลังการกลั่น 400 ,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุดีอาระเบียลดอัตราการกลั่นลงเหลือ 75 % ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เนื่องจากปิดซ่อมแซมหน่วย Hydrocracker ทั้งนี้โรงกลั่น Yasref ดำเนินการเต็มกำลังการผลิตเมื่อเดือน ก.ค. 58 ขณะที่ โรงกลั่น Ulsan (กำลังการกลั่น 810,000 บาร์เรลต่อวัน) ของเกาหลีใต้มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU No.4 (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 58 เป็นเวลา 10 วัน ประกอบกับ Reuters รายงานบริษัท FPC ของไต้หวันเลื่อนการส่งมอบน้ำมันดีเซลจำนวน 1 เที่ยวเรือ จากเดือน ต.ค. 58 ออกไปเป็น พ.ย. 58 และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillate เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ต.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 149.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Egyptian General Petroleum Corp. (EGPC) ของอียิปต์ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.2 %S ปริมาณ 447,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 22-23 ต.ค. 58 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.94 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.24 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.70-62.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
                
                
                
                

    


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ต.ค. 2558 เวลา : 18:32:16

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:06 am