- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ต.ค.ปรับเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านบาร์เรล ไปแตะที่ระดับ 476.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) ที่ปรับเพิ่มขึ้น 7.1 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ยังมากกว่าที่รอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาร์เรล โดยสาเหตุสำคัญมาจากตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอีก 156,000 บาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 6.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน - นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่ยังซบเซาเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ว่าจะยังชะลอตัว หลังตัวเลขเศรษฐกิจจีนทรุดตัวลงหนัก โดยตัวเลข GDP จีนในไตรมาส 3/58 ชะลอตัวลงไปอยู่ที่ 6.9% - สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มไม่สดใส หลังล่าสุดตัวแทนจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยว่า มาตรการบริหารเงินฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดอายุลงในวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสี่ยงที่จะขาดแคลนงบประมาณในการบริหารประเทศ หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล โดยสำนักงบประมาณของสภาคองเกรส (CBO) ประเมินว่าหากไม่มีการเพิ่มเพดานหนี้ กระทรวงจะมีเงินสดในระดับต่ำมากในช่วงต้นเดือน พ.ย. ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินสำหรับกิจกรรมต่างๆของรัฐบาลเกิดความล่าช้า และรัฐบาลจะเผชิญกับภาวะผิดนัดชำระหนี้ - ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบ โดยปรับลดลง 48.5 จุด ไปอยู่ที่ระดับ 17,168.61 จุด เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ ด้วยแรงกดดันของอุปทานที่เพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งในประเทศไต้หวันปรับเพิ่มกำลังการผลิตในวันพุธ หลังกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อุปสงค์ที่ดีใยภูมิภาคและราคาในสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาไม่ได้ปรับลดลงปมากนัก ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียกลับมาเปิดดำเนินการผลิตในช่วงกลางเดือน ต.ค. หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่ 18 ก.ย. อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ที่ดีขึ้นในแอฟริกาตะวันตกและเวียดนาม ทิศทางราคาน้ำมันดิบ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่น่าจับตามอง ตลาดน้ำมันดิบโลกจะยังคงประสบกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกจะยังคงล้นตลาดจนถึงปลายปีหน้า ในขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรมีความเป็นไปได้มากขึ้น จับตาท่าทีของธนาคารกลางจีนว่าจะมีมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังตัวเลขจีดีพีล่าสุดประจำไตรมาส 3/2558 ออกมาต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ที่ 6.9% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่จีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าตราการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน สู่ระดับ 5.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. เนื่องจากผู้ผลิตบางส่วนชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบหลังเผชิญภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรีย หลังจากรัสเซียปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในซีเรียอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เครื่องบินกองทัพสหรัฐฯ ได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรียเพื่อใช้รบขับไล่กลุ่ม IS
ข่าวเด่น