แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 – 30 ต.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มที่จะถูกกดดันจากความกังวลของตลาดต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว หลังจากรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานล้นตลาดที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย ประกอบกับความกังวลต่ออุปทานส่วนเกินจากอิหร่านที่กดดันตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้งหก บรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอัตราการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง รวมถึงความกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คลี่คลายลง หลังตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาทิศทางเศรษฐกิจจีน หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 ขยายตัวที่ระดับร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 หรือหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงของ GDP จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่อาจชะลอตัวลงเช่นกัน
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังไม่คลี่คลาย โดยล่าสุดกลุ่มโอเปก และตัวแทนจากประเทศนอกกลุ่ม ได้จัดการประชุมในกรุงเวียนนา ณ วันที่ 21 ต.ค. เพื่อหารือเรื่องภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแนวโน้มว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบจะมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมโอเปกครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มโอเปกมีมติคงกำลังการผลิตน้ำมันที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไปอีก 6 เดือน เช่นเดียวกับที่เคยมีมติการประชุมโอเปกครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว สำหรับการประชุมโอเปกครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของอิหร่านคาดว่ากลุ่มโอเปกจะยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิต ทั้งนี้สมาชิกโอเปกบางส่วนแสดงความไม่พอใจต่อราคาน้ำมันที่มีระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และต้องการให้ราคาน้ำมันฟื้นตัวกลับสู่ระดับ 70-80 ดอลลาร์ แต่ไม่มีสมาชิกรายใดคาดว่าราคาจะกลับมาแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ตลาดคาดการณ์ว่าอิหร่านและชาติมหาอำนาจตะวันตก (P5+1) จะสามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นโครงการนิวเคลียร์ได้เป็นผลสำเร็จภายในปลายปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มาตรการคว่ำบาตรในการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านสิ้นสุดลง โดยเจ้าหน้าที่จากอิหร่านคาดว่าอิหร่านจะสามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ทันทีราว 0.5 – 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 1 สัปดาห์หลังมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิก โดยล่าสุดสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเศรษฐกิจอิหร่านอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ต.ค. ซึ่งการตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร จะมีผลบังคับใช้ในช่วงสิ้นปีนี้ หลังจากที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ประกาศว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับชาติมหาอำนาจ (P5 + 1) ในวันที่ 15 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่าอิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นได้ 0.5 -0.7 ล้านบาร์เรลภายในช่วงกลางปีหน้า
จับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 27 – 28 ต.ค. ต่อท่าทีในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Federal Funds Rate) ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยล่าสุดนางเจเน็ต เยลเลน ประธาน Fed ไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือนโยบายการเงินในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งยังคงสร้างความไม่แน่นอนในเรื่องดอกเบี้ย ทั้งนี้ ข่าวการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง และเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา
อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ (ณ วันที่ 16 ต.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนได้ชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ ซึ่งการชะลอตัวลงของอัตราการผลิตน้ำมันดิบสะท้อนได้จากรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ของ Baker Hughes ที่ระบุว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ต.ค.) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอีก 10 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน สู่ระดับ 595 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี และปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 60 จากระดับสูงสุดที่ 1,609 แท่นในเดือน ต.ค. 54 ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีภาคบริการ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลของสหรัฐฯ และยอดค้าปลีก และอัตราการว่างงานของญี่ปุ่น
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 – 23 ต.ค.)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 44.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 47.99 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการบรรลุข้อตกลงเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้งหก ซึ่งจะส่งผลให้มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำดิบของอิหร่านสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง
ข่าวเด่น