- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง จากแรงกดดันของปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังของยุโรปและสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเข้าใกล้ระดับสูงสุดของความสามารถถังที่จะรองรับได้ เนื่องจากอัตราการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปlสงค์มีการเติบโตในอัตราที่ช้ากว่า ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่าหากโรงกลั่นไม่สามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังดังกล่าวได้ อาจทำให้โรงกลั่นน้ำมันจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2541 และ 2552
- นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปที่ล้นตลาด เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณอุปทานจากโรงกลั่นน้ำมันที่มีการขยายตัวในภูมิภาคตะวันออก ประกอบกับปริมาณการส่งออกของประเทศจีนที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักจากสภาวะอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรง
- ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ ประจำเดือน ก.ย. 58 ปรับลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 468,000 ยูนิต ต่ำกว่าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 550,000 ยูนิต นอกจากนั้น ตัวเลขในเดือนก่อนหน้าถูกปรับทบทวนลดลงเป็นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 529,000 ยูนิต จากที่ก่อนหน้าที่ประกาศว่าปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 552,000 ยูนิต ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงดังกล่าวนับเป็นการบ่งชี้ถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงเล็กน้อย
- สำนักข่าวรอยเตอร์ คาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ คงคลัง ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ต.ค. 58 ที่จะประกาศในวันนี้ (27ต.ค. 58) โดยสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 479.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันเบนซินและน้ำมันสำหรับให้ความร้อนคงคลังคาดว่าจะปรับตัวลดลง 2.0 ล้านบาร์เรล และ 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 219.8 ล้านบาร์เรล และ 145.0 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ
ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงตามกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการกลับมาดำเนินการตามปกติหลังจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไต้หวัน ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอุปทานจากประเทศอินเดียและภูมิภาคยุโรป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงในกรอบที่จำกัดจากแรงสนับสนุนของความต้องการใช้จากประเทศคูเวต เคนย่า และทรานซาเนีย
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกของประเทศจีน โดยมีสาเหตุหลักจากสภาวะอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรงและปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนั้น ตลาดน้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่คาดว่าจะมีเพิ่มเติมเข้าสู่ตลาดหลังหน่วยกลั่นคอนเดนเสทของโรงปิโตรเคมีในประเทศไต้หวันมีแผนเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 58 นี้
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 27 – 28 ต.ค. ต่อท่าทีในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งกระแสการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง และหนุนราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น
ทิศทางเศรษฐกิจจีนยังคงมีความไม่แน่นอน แม้รัฐบาลจีนประกาศปรับลดดอกเบี้ยครั้งใหม่เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจหลายด้านยังคงเปราะบาง ซึ่งหลายฝ่ายยังคงกังวลว่าการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงของ GDP จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะยังคงส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่อาจชะลอตัวลงตาม
อุปทานน้ำมันดิบยังคงล้นตลาดต่อเนื่อง แม้ล่าสุดกลุ่มโอเปกและตัวแทนจากประเทศนอกกลุ่ม ได้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมาเพื่อหารือเรื่องภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแนวโน้มว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบจะมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน
อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องหรือไม่หลังตัวเลขหลุมขุดเจาะเริ่มคงตัว อย่างไรก็ดี สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ยังคงรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ (ณ วันที่ 16 ต.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนชะลอการผลิตลง
ข่าวเด่น