+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นวานนี้ หลังจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.02 จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาน่าผิดหวังกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงส่งผลทำให้นักลงทุนที่ถือเงินในสกุลเงินอื่นๆ มองว่าราคาน้ำมันมีราคาต่ำลง
- อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ของปี 2558 นี้ ที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ออกมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในไตรมาสนี้ ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 3.9 ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่หลายๆ บริษัทลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากต้องการที่จะลดจำนวนสินค้าในคลังที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากระดับ ร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในเดือนธันวาคมนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานที่ยังคงตรึงตัวอยู่ในขณะนี้เนื่องจากมีโรงกลั่นหลายแห่งยังคงปิดซ่อมบำรุงอยู่ นอกจากนี้ราคาน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการเพิ่มเติมจากประเทศเนปาลอีกด้วย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังประเทศญี่ปุ่นได้ส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นมากเกือบถึงสองเท่าจากสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลเพิ่มเติมจากเวียดนาม แอฟริกาตะวันออก และพม่าอยู่
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจในอีก 5 ข้างหน้าที่ร้อยละ 6.5 สร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างมากว่ารัฐบาลอาจจะไม่มีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่าเศรษฐกิจเพิ่มจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 และคาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 เป็นต้นไป
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะมีการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของจีนลดลง
อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ (ณ วันที่ 23 ต.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนได้ชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบ โดยรายงานล่าสุดจำนวนแท่นโดย Baker Hughes จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 23 ต.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอีก 1 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน สู่ระดับ 594 แท่น
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ทื่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตทั้งกลุ่มโอเปกและรัสเซียยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูง
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจาก ข้อมูลดัชนียอดขายบ้านในเดือนกันยายน ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ไปสู่ระดับ 106.8 ซึ่งการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้การปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากมีการเซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้อยลง และสัญญาณของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ส่งผลทำให้ผู้บริโภคยังคงจับตาดูสถานการณ์ก่อนที่จะเข้ามาซื้อบ้าน
+/- สำหรับตัวเลขผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,000 รายจากระดับ 259,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 260,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 263,000 ราย
ข่าวเด่น