“ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น หลัง FED ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย”
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2 – 6 พ.ย. 58)
ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยการกำหนดเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับร้อยละ 6.5 ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่จะออกในเร็วนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนอาจจะไม่มีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเร็วนี้ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ธ.ค. อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวลงของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากการที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้ผลิตมีการปรับลดการขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มเติม
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาทิศทางเศรษฐกิจจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (PMI) ในเดือน ต.ค. ของจีนยังคงชะลอตัวลง เนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงหดตัวลง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 6 ครั้งนับตั้งแต่ พ.ย. 56 แต่เศรษฐกิจของจีนก็ยังคงไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอีก 5 ปีข้างหน้าที่ร้อยละ 6.5 ยังสร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างมากว่ารัฐบาลอาจจะไม่มีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่าเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 และคาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 เป็นต้นไป
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 27 – 28ต.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลาง (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะมีการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของจีนลดลง สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความพร้อมมากขึ้นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนั้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้
อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ (ณ วันที่ 23 ต.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเดือน เม.ย. เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนได้ชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ ซึ่งการชะลอตัวลงของอัตราการผลิตน้ำมันดิบสะท้อนได้จากรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ของ Baker Hughes ที่ระบุว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 23 ต.ค.) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องอีก 1 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน สู่ระดับ 594 แท่น โดยใน 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะไปกว่า 81 แท่น หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ทื่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตทั้งกลุ่มโอเปกและรัสเซียยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.ย. โอเปกมีการผลิตน้ำมันดิบที่สูงถึง 31.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ ดัชนีภาคบริการจีน ยอดค้าปลีกยูโรโซน อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และรายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 – 30 ต.ค.)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 46.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 49.56 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.12 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นหลัง Fed มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่จีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ยังคงปรับลดลง และอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง
ข่าวเด่น