- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 10.78 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการดำเนินการผลิตมา เนื่องจากผู้ผลิตในรัสเซียต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตและมีการส่งออกมาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันอย่างมากว่าภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจะยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายในเร็วนี้ แม้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับลดลงก็ตาม
+/- ดัชนีภาคการผลิต (Caixin PMI) ของจีนในเดือน ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.2 มาอยู่ที่ระดับ 48.3 แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 จุดเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 8 เดือนติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตของจีนยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตามแรงซื้อภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแรง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสร้างความกังวลว่าอุปสงค์น้ำมันของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกอาจจะชะลอตัวลงได้
- นาย อักบาร์ ซาเลฮี รองนายกรัฐมนตรีของอิหร่าน เปิดเผยว่า อิหร่านได้เริ่มเดินหน้าทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านและกลุ่มชาติมหาอำนาจ (P5+1) บรรลุไว้เมื่อวันที่ 14 ก.ค. แล้ว โดยล่าสุดอิหร่านได้เริ่มลดทอนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ลง ซึ่งรวมไปถึงการถอดเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ออกจากโรงงานเสริมสมรรถนะ และเทคอนกรีตหนักใส่เตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อยุติการใช้งานลง โดยหากอิหร่านสามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงทั้งหมดได้ก่อนวันที่ 15 ธ.ค. ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จะมีการรายงานผลการตรวจสอบขั้นสุดท้าย จะส่งผลให้อิหร่านจะได้รับการยกเลิกการคว่ำบาตรและกลับมาส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า
- ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ โดยสำนักข่าว Reuters คาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ต.ค. จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 6 สัปดาห์ติดต่อกัน เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงไปิดซ่อมบำรุง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
- อุปสงค์น้ำมันดีเซลที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้หลังสภาพอากาศหนาวเย็นน้อยกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับอุปทานน้ำมันดีเซลคงคลังทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังโรงกลั่นเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ส่งผลกดดันให้โรงกลั่นน้ำมันอาจไม่ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงมากขึ้นนักในช่วงปลายปี
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังโรงกลั่นในภูมิภาคบางส่วนเริ่มทยอยกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ อุปทานจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มส่งออกมาเอเชียมากขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศค่อนข้างชะลอตัว อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียที่ยังเติบโตต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดีเซลจากไต้หวันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากทวีปแอฟริกาและเวียดนามที่ปรับตัวสูงชึ้นก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจในอีก 5 ข้างหน้าที่ร้อยละ 6.5 สร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างมากว่ารัฐบาลอาจจะไม่มีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่าเศรษฐกิจเพิ่มจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 และคาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 เป็นต้นไป
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะมีการพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปีและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของจีนลดลง
อัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ (ณ วันที่ 23 ต.ค.) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บางส่วนได้ชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบ โดยรายงานล่าสุดจำนวนแท่นโดย Baker Hughes จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ต.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอีก 1 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน สู่ระดับ 578 แท่น
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงไม่มีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ทื่ผ่านมา ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตทั้งกลุ่มโอเปกและรัสเซียยังคงปริมาณการผลิตอยู่ในระดับสูง
ข่าวเด่น