ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 43 – 48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 - 27 พ.ย. 58)
ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด สะท้อนได้จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่เปิดเผยว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,000 ล้านบาร์เรล รวมถึงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกือบ 500 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในซีเรีย รวมถึงการประท้วงของพนักงานบริษัท Petrobras ในบราซิลยังคงยืดเยื้อ สร้างความกังวลต่อตลาดว่าอุปทานน้ำมันดิบอาจตึงตัวในระยะสั้น ซึ่งมีส่วนหนุนราคา
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย โดยรายงานสถานการณ์น้ำมันล่าสุด ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,000 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ IEA คาดว่าอุปทานจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอัตราการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากระดับ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2558 สู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า จะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันต่อเนื่องในปีหน้า
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ย. 58) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสูงถึง 487.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในเดือน เม.ย. 58 ที่ 490.9 ล้านบาร์เรล และถือว่ามากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่าร้อยละ 8 ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบน้ำมันดิบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีที่แล้วกว่าร้อยละ 140
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยได้รับแรงหนุนจากการกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้
โดยล่าสุดรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 27-28 ต.ค. แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. และบางส่วนมองว่า Fed มีความพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เนื่องจากข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญๆบ่งชี้ในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่แข็งค่าเป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลดอลลาร์นั้นมีราคาแพงขึ้น
ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในซีเรีย โดยล่าสุดฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินรบออกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่จู่โจมฐานที่มั่นของกลุ่มกองกาลังรัฐอิสลาม (IS) ในเมืองรัคคา ทางตอนเหนือของประเทศซีเรีย ซึ่งเกิดขึ้น 2 วันหลังจากเกิดเหตุวินาศกรรมโจมตีกรุงปารีส เมื่อวันที่ 13 พ.ย. จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายราย อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่าเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งนี้อาจไม่ได้ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบมากนัก
การประท้วงของพนักงานบริษัท Petrobras ในบราซิลยังคงยืดเยื้อ และนับเป็นการประท้วงที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยล่าสุดกลุ่มพนักงานยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับฝ่ายบริหารของบริษัทได้ ซึ่งการประท้วงดังกล่าวส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศปรับลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตก่อนการประท้วงในวันที่ 1 พ.ย. 58 โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.8 ของกำลังการผลิตรายวัน
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคบริการ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ยูโรโซน ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) จีดีพี Q3/15 ความเชื่อมั่นผู้บริโภค รายจ่ายในการบริโภคของบุคคล จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 พ.ย.)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 41.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.05 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 44.66 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐฯ โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดที่ไม่มีทีว่าจะคลี่คลายในเร็วนี้ ซึ่งจากรายงานของ IEA เปิดเผยว่าปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงมากขึ้น หลังฝรั่งเศสมีการส่งเครื่องบินรบออกปฎิบัติการโจมตีทางอากาศตอบโต้กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (IS) ทางตอนเหนือของซีเรีย
ข่าวเด่น