ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดตลาดเมื่อคืนนี้ (23 พ.ย.58) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 17,792.68 จุด ลดลง 31.13 จุด หรือ -0.17%, ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,102.48 จุด ลดลง 2.44 จุด หรือ -0.05% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,086.59 จุด ลดลง 2.58 จุด หรือ -0.12%
ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวลง 0.4% ปิดที่ 380.37 จุด,ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ปิดที่ 4,889.12 จุด ลดลง 21.85 จุด หรือ -0.44% , ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมัน ปิดที่ 11,092.31 จุด ลดลง 27.52 จุด หรือ -0.25% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดที่ 6,305.49 จุด ลดลง 29.14 จุด หรือ -0.46%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองในเดือนต.ค.ร่วงลง 3.4% สู่ระดับ 5.36 ล้านยูนิต ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ายอดขายบ้านมือสองในเดือนต.ค.ลดลงสู่ระดับ 5.4 ล้านยูนิต
ด้านมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 52.6 ในเดือนพ.ย.จากระดับ 54.1 ในเดือนต.ค. บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐในเดือนพ.ย.มีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีในเดือนพ.ย. และปรับตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนหน้า โดยเฉพาะเมื่อนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก กล่าวว่า เฟดควรเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า รวมถึงได้รับแรงกดดันจากหุ้นไฟเซอร์ อิงค์ ที่ร่วงลงไปกว่า 2.6%
ปัจจัยที่นักลงทุนจับตาวันนี้ ได้แก่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ รวมถึงตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของจีดีพีช่วงไตรมาส 3/2558, ราคาบ้านเดือนก.ย.จากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.จาก Conference Board และดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ย.จากเฟดสาขาริชมอนด์
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปที่ปิดลบเมื่อคืนนี้ ได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลง เนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน หลังมาร์กิต อิโคโนมิคส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนพ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 54.4 จากระดับ 53.9 ในเดือนต.ค. ทำสถิติสูงสุดในรอบ 54 เดือน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้นแตะ 52.8 ซึ่งสูงสุดในรอบ 19 เดือน จากระดับ 52.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนพ.ย.ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 54.6 สูงสุดในรอบ 54 เดือน ดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางธุรกิจมีการขยายตัว ส่วนตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
ข่าวเด่น