- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังมีการรายงานผลสำรวจปริมาณอุปทานการผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปก (OPEC) ในเดือน พ.ย. 58 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 130,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 31.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกกว่าระดับการผลิตเชิงนโยบายที่ทางสมาชิกกลุ่ม โอเปก ได้กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มสมาชิกโอเปกที่มีการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยเพิ่มขึ้น 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.25 ล้านบาร์เรล
ต่อวัน
- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากความกังวลด้านปริมารการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังมีการคาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรจะถูกยกเลิกภายในสิ้นปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 58 ที่ผ่านมา อิหร่านมีการเปิดเผยว่าจะมีการพัฒนาโครงการการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซกว่า 50 โครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนจากทั้งนักลงทุนภายในประเทศและต่างชาติ อีกทั้งยังมีการตั้งเป้าหมายว่าประเทศจะต้องมีการเพิ่มการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นมูลค่า 185 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2563
- ตลาดยังคงจับตามองการประชุมเชิงนโยบายของประเทศกลุ่มโอเปก (OPEC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ธ.ค. 58 ณ กรุงเวียนนา ว่าโอเปกจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังล่าสุดประเทศซาอุดิอาระเบียได้ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และแสดงเจตจำนงที่จะเจรจาร่วมกับผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันไว้ ซึ่งสวนทางกับนโยบายเดิมของโอเปกที่พยายามคงกำลังการผลิตระดับสูงเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ อย่างไรก็ดี ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบนอกกลุ่มโอเปกรายใหญ่เช่นรัสเซียได้มีการปฏิเสธที่จะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นการแสดงนัยว่ารัสเซียจะยังคงกำลังการผลิตที่ระดับสูงต่อไปเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้
+/- สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานผลการสำรวจปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่จะมีการรายงานโดยสถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) และสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 448.2 ล้านบารณ์เรล ส่วนปริมาณน้ำมันกลุ่มให้ความร้องคงคลังคาดว่าจะปรับตัวลดลง 0.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 141.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 216.7 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันของอุปทานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดียและญี่ปุ่น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศที่กลับมาดำเนินการตามปกติหลังจากการปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงในกรอบที่จำกัดจากแรงหนุนของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเบนซิน RBOB ในสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในกรอบที่จำกัด เนื่องจากยังคงมีแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ประกอบกับอุปทานที่คาดว่าจะมีแนวโน้มตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในประเทศสิงคโปร์และเวียดนาม
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 4 ธ.ค. 58 นี้ ว่าโอเปกจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังล่าสุดซาอุดิอาระเบียออกมาให้ความเห็นว่าพร้อมที่จะเจรจาร่วมกับผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันไว้ ไม่ให้ลดต่ำลงมากกว่านี้ ซึ่งสวนทางกับนโยบายเดิมของโอเปกที่พยายามคงกำลังการผลิตระดับสูงเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้
สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังไม่คลี่คลายอาจส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันในระยะสั้น หลังล่าสุดเกิดเหตุการณ์ที่ตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกเมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ย. เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กับรัสเซีย และส่งผลให้ตลาดกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะบานปลายและกลายเป็นชนวนที่ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในซีเรีย รวมถึงสงครามในอิรักของกลุ่ม ISIS ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ย. 58) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 488.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในเดือน เม.ย. 58 ที่ 490.9 ล้านบาร์เรล และถือว่ามากกว่าช่วงเดียวของปีที่แล้วกว่าร้อยละ 27
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้ หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาออกมาเป็นที่น่าพอใจ
ข่าวเด่น