- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงหลังได้รับแรงกดดันจากการที่ตลาดคาดว่า การประชุมเชิงนโยบายของประเทศกลุ่มโอเปก (OPEC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 ธ.ค. 58 ณ กรุงเวียนนา กลุ่มประเทศสมาชิกโอเปคจะยังคงโควตาการผลิตไว้ที่ระดับเดิมเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดกับกลุ่มประเทศนอกโอเปกโดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ และรัซเซีย
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของจีน (NBS PMI) ในเดือน พ.ย. ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ที่ระดับ 49.6 ลดลงจาก 49.8 ในเดือน ต.ค. เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงเปราะบาง แม้ว่าตัวเลขการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง (CAIXIN PMI) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.6 และดัชนีภาคบริการ (NBS Service PMI) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 53.6 ในเดือน พ.ย. ก็ตาม
+/- รอยเตอร์คาดการณ์ว่าน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐที่จะประกาศโดยสำนักงานสารสนเทศสหรัฐฯ (EIA) ในวันพุธนี้ จะปรับตัวลดลง 500,000 บาร์เรล หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตลอด 9 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากคาดว่ากำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม หลังตลาดปิดมีรายงานของสถาบันด้านปิโตรเลียมพลังงานสหรัฐฯ (API) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ราคา WTI มีการซื้อขายที่ปรับตัวลดลง
+ ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในตะกร้าเงิน เนื่องจากดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน พ.ย. ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี มาอยู่ที่ระดับ 48.6 เนื่องจากการตัดลดการใช้จ่ายของบริษัทด้านพลังงาน ขณะที่ค่าเงินยูโร (EUR) มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป
+ น้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ได้รับแรงสนับสนุนจาก ราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ออกมาประกาศเพิ่มเป้าหมายสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลในน้ำมันเบนซินสำหรับปี 59 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17.4 พันล้านแกลลอน จากเป้าหมายของปีนี้ที่ระดับ 16.3 พันล้านแกลลอน ส่งผลให้ตลาดมองว่าต้นทุนในการผลิตน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการใช้ในภูมิภาคยังคงเบาบาง ในขณะที่อปุทานยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากตัวเลขปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีปริมาณอุปทานจากทางยุโรปมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการส่งออกจากจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามโรงกลั่นในแถบเอเชียเหนือเริ่มหันมาผลิตน้ำมันทำความร้อน (น้ำมันก๊าด) มากขึ้นแทนการผลิตน้ำมันดีเซล
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 4 ธ.ค. 58 นี้ ว่าโอเปกจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังล่าสุดซาอุดิอาระเบียออกมาให้ความเห็นว่าพร้อมที่จะเจรจาร่วมกับผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันไว้ ไม่ให้ลดต่ำลงมากกว่านี้ ซึ่งสวนทางกับนโยบายเดิมของโอเปกที่พยายามคงกำลังการผลิตระดับสูงเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้
สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังไม่คลี่คลายอาจส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันในระยะสั้น หลังล่าสุดเกิดเหตุการณ์ที่ตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกเมื่อวันอังคารที่ 24 พ.ย. เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กับรัสเซีย และส่งผลให้ตลาดกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะบานปลายและกลายเป็นชนวนที่ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในซีเรีย รวมถึงสงครามในอิรักของกลุ่ม ISIS ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังคงผันผวนและคาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้ หลังจากตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาออกมาเป็นที่น่าพอใจ
ข่าวเด่น