การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนนี้ (16 ธ.ค.) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% เป็น 0.25-0.50% โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2006
นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยเฟดระบุว่าจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และจะปรับนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจ
โดยในแถลงการณ์ระบุว่า เฟดคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวในลักษณะที่สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคณะกรรมการ FOMC พิจารณาแล้วเห็นว่าตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปีนี้ และคณะกรรมการมีความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในระยะกลางสู่ระดับ 2% ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ เฟดยังได้เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของอัตราดอกเบี้ย, เศรษฐกิจสหรัฐ, อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ โดยเจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจะดีดตัวแตะ 1.375% ในปลายปี 2016, สู่ 2.375% ในปลายปี 2017 และ 3.25% ในเวลาอีก 3 ปี การคาดการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นจำนวน 4 ครั้งในปีหน้า, 4 ครั้งในปี 2017 และ 3-4 ครั้งในปี 2018
เฟดยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.4% ในปี 2016, 2.2% ในปี 2017 และ 2.0% ในปี 2018 ขณะเดียวกัน เฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นจาก 0.4% ในปี 2015 สู่ระดับ 1.6% ในปี 2016 และสู่ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด ในปี 2018 นอกจากนี้ เฟดระบุว่าอัตราว่างงานจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 4.7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ข่าวเด่น