- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน หลังจาก Baker Hughes ได้รายงานตัวเลขแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ พบว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 17 แท่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 541 แท่น ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ ซึ่งตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลง ทั้งนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เป็นการส่งสัญญาณถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้
- Pierre Andurand ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการซื้อขายน้ำมันดิบ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับ 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และอาจจะไปแตะที่ระดับ 25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลภายในไตรมาสแรกของปี 2559 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มโอเปกยังคงรักษากำลังการผลิตไว้ และประเทศอิหร่านมีแนวโน้มที่จะส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในปีหน้า
- ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 367.29 จุด หรือร้อยละ 2.1 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นวันที่สอง โดยได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ประกอบกับนักลงทุนได้มีความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
+/- ข้อมูลเบื้องต้นของดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม รายงานโดย Markit พบว่าปรับตัวลดลง 2.4 จุดจากระดับ 56.1 จุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่ระดับ 53.7 ในเดือนนี้ ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 จุดที่บ่งบอกถึงการขยายตัวของภาคบริการในสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันเบนซินทางฝั่งสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีอุปสงค์เพิ่มเติมจากทางมาเลเซีย ที่โรงกลั่น Melaka ยังคงหยุดซ่อมบำรุงอยู่ รวมไปถึงการผลิตน้ำมันเบนซินที่ลดลงในประเทศจีน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียถูกกดดันจากปริมาณอุปทานที่ยังคงล้นตลาด เนื่องจากการส่งออกของอินเดีย ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียเหนือที่มากขึ้น ในขณะที่อุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังทรงตัว
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 34-39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 36-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจากอิหร่านมีแนวโน้มที่จะเข้ามาสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น หลังล่าสุดทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รายงานว่าได้ยุติการสอบสวนข้อสงสัยเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน หลังได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 12 ปี โดย IAEA เผยว่าไม่พบหลักฐานว่าอิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ ส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้ในเร็วนี้
จับตาการประชุมสภาครองเกรสของสหรัฐฯ เพื่อผ่านร่างกฎหมายในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ โดยล่าสุดผู้นำของสภาครองเกรสสหรัฐฯ ได้เห็นพ้องให้มีการยกเลิกคำสั่งห้ามการส่งออกน้ำมันจากสหรัฐฯ หลังบังคับใช้มานานกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวยังคงต้องรอการอนุมัติจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 18 และ 22 ธ.ค. ตามลำดับ รวมถึงต้องมีการลงนามเพื่อเป็นกฎหมายจากประธานาธิบดี บารัค โอบามาก่อน
ตลาดน้ำมันดิบยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. 58) ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านบาร์เรลขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 490.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดของปี ทั้งนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ เมืองคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบสหรัฐฯ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
จับตาทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังคณะกรรมการกาหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จากระดับ 0-0.25%มาอยู่ที่ระดับ 0.25-0.50% ในการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายเมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ถือเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เนื่องจากอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ข่าวเด่น