- ราคาน้ำมันดิบวานนี้ได้ปรับตัวลงกว่าร้อยละ 3 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบรนท์ที่ปรับตัวลดลงกลับลงไปใกล้เคียงกับระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี หลังจากแรงซื้อทำกำไรโดยการปิดสัญญาได้อ่อนตัวลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับนักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่าราคาน้ำมันดิบยังสามารถปรับตัวลงไปได้อีกในปีหน้านี้ ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสได้อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ติดต่อกันเป็นวันที่ 4 หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ยกเลิกการห้ามส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี
- กลุ่มโอเปกยังคงคาดการณ์สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบหลังจากที่ได้ประเมินตัวเลขปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินล่าสุดอยู่ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งเป็นผลมาจากที่กลุ่มโอเปกยังคงระดับการผลิตเอาไว้ รวมไปถึงการผลิตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศนอกกลุ่มโอเปก ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินคิดเป็นร้อยละ 2 ของความต้องการใช้น้ำมันดิบโลก
- ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้ที่ลดลงในภูมิภาคเอเชีย หลังจากญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขยอดขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ได้ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 3.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 46 ปี หรือตั้งแต่ปี 2512 ทั้งนี้การปรับตัวลดลงนั้นเป็นผลมาจาก จำนวนประชากรของญี่ปุ่นที่เริ่มปรับลดลงและประชากรที่อายุเฉลี่ยสูงขึ้น รวมไปถึงระดับอุณหภูมิที่สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในช่วงฤดูกาลหนาวนี้
- ซาอุดิอาระเบียเตรียมที่จะรับมือระดับราคาน้ำมันดิบที่ต่ำในระยะยาว หลังจากซาอุดิอาระเบียเป็นผู้นำในกลุ่มโอเปกที่จะคงกำลังการผลิต เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบียเตรียมที่จะปฏิรูปการเงินภายในประเทศด้วยการปรับลดงบประมาณ ลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงภายในประเทศ และเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีและอากรให้มากขึ้น เพื่อมาชดเชยรายได้ที่หายไปจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงไปอย่างมาก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าน้ำมันดิบดูไบเล็กน้อย เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากโรงกลั่นในภูมิภาคที่เร่งผลิตน้ำมันเบนซินหลังจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดิบปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีอุปทานมากขึ้นในตลาด นอกจากนี้โรงกลั่น Mina al-Ahmadi ของประเทศคูเวตยังได้กลับมาดำเนินการหลังจากหยุดไปเนื่องจากขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศปากีสถานที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ภาคในภูมิภาคยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุปทานจากเอเชียเหนือยังคงล้นตลาด หลังโรงกลั่นโดยส่วนใหญ่ดำเนินการผลิตในระดับสูงเพื่อหวังผลกำไรจากส่วนต่างราคาที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ โรงกลั่นจากเกาหลีใต้ อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย ยังได้ส่งออกน้ำมันดีเซลออกมามากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกด้วย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ 34-39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 36-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ว่าจะปรับลดลงหรือไม่ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (สิ้นสุดวันที่ 18 ธ.ค. 58) ว่าปรับตัวลดลงมากถึง 5.88 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 484.78 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นในประเทศลดการนำเข้าน้ำมันดิบลงในช่วงปลายปี เนื่องจากไม่ต้องการเก็บสต๊อกน้ำมันดิบในระดับสูงในช่วงปลายปี เนื่องจากเหตุผลทางด้านบัญชี
ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจในการส่งออกน้ำมันดิบมายังตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งรายงานล่าสุดพบว่าหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เตรียมที่จะส่งออกน้ำมันดิบลำแรกในเดือนมกราคมนี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ
หลังจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ยืนยันว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาติมหาอำนาจ (P5+1) ในการยุติโครงการนิวเคลียร์เรียบร้อยแล้ว ตลาดคาดว่าอิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3-7 แสนบาร์เรลต่อวันในเร็วนี้ รวมทั้งจะมีการนำน้ำมันดิบและคอนเดนเสตที่เก็บไว้ในเรือขนส่งน้ำมันดิบกว่า 40 ล้านบาร์เรลออกมาจำหน่ายในตลาดโลก
ข่าวเด่น