+ ราคาน้ำมันเบรนท์ดีดตัวแรงถึง 25% ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสพุ่งสูงขึ้นราว 10% ภายในวันเดียวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบถือว่าปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันทำความร้อนในตลาดซื้อ-ขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์พายุหิมะทำให้ปรับตัวสูงขึ้นราว 10% เช่นกัน
+ เหตุการณ์พายุหิมะถล่มสหรัฐฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่าจะเป็นพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดของฝั่งตะวันออกสหรัฐฯ และภาวะหนาวเย็นนี้ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนในสหรัฐฯ จะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงทำให้สต๊อกน้ำมันทำความร้อนคงคลังที่อยู่ในระดับสูงในตอนนี้ปรับลดลง และส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังคาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย
+ ขณะที่นักลงทุนหลายรายพากันเข้าซื้อสัญญาน้ำมันล่วงหน้าเพื่อทำกำไรในช่วงที่ราคาดีดตัวขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีและศุกร์ที่ผ่านมา หลังมีกระแสการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น โดยนักลงทุนบางส่วนยังคงมองว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวขึ้นในระยะสั้นเท่านั้นเนื่องจากภาพรวมปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด
+ บริษัท Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ณ สุดสัปดาห์ที่แล้วลดลง 5 หลุม มาอยู่ที่ 510 หลุม ส่วนหลุมขุดเจาะก๊าซธรรมชาติลดลง 8 หลุม ส่งผลให้โดยรวมหลุมขุดเจาะลดลง 13 หลุม มาอยู่ที่ 637 หลุม โดยเป็นหลุมขุดเจาะแนวนอน (Horizontal rigs) ที่ลดลง 11 หลุม เหลือ 500 หลุม และหลุมขุดเจาะอื่น (Vertical rigs, Directional rigs) ที่ลดลงเหลือ 137 หลุม
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการใช้ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมีแรงซื้อจากเวียดนามเข้ามาในตลาด แม้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังจะปรับเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคทั้งที่สิงคโปร์และสหรัฐฯ ก็ตาม
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ และถือว่าเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดีเซล/น้ำมันทำความร้อนในสหรัฐฯ นอกจากนี้ราคายังเพิ่มขึ้นหลังมีแรงซื้อจากเวียดนามเข้ามาในตลาด อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดีเซลจากจีนแม้จะปรับลดลงในเดือน ธ.ค. แต่เฉลี่ยทั้งปี 58 แล้วถือว่ายังสูงกว่าปี 57 อยู่ 1.4%
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 27-34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ และธนาคารกลางยุโรปในเดือน มี.ค. ว่าจะมีการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมหรือไม่ หลังล่าสุดประธานธนาคารกลางทั้งสองแห่งส่งสัญญาณการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
สถานการณ์พายุหิมะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีทางตะวันออกของสหรัฐฯ ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทำความร้อนปรับตัวสูงขึ้น
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยอิหร่านคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการส่งออกน้ำมันดิบราว 500,000 บาร์เรลต่อวันได้ทันที ซึ่งประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวันจะถูกส่งไปยังยุโรป
ข่าวเด่น