ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นักลงทุนโลกผวา "เศรษฐกิจโลกชะลอตัว" แถมราคาน้ำมันร่วงซ้ำเติม ฉุดตลาดหุ้นโลกร่วงระนาว "ดาวโจนส์" ลบ 17.12 จุด


ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ร่วงลง ได้ส่งผลให้การซื้อขายในตลาดหุ้นสำคัญของโลกเมื่ีอคืนนี้ (1 ก.พ.59) ดัชนีร่วงลง โดยดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดที่ 16,449.18 จุด ลดลง 17.12 จุด หรือ -0.10% แม้ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,620.37 จุด จะเพิ่มขึ้น 6.41 จุด หรือ +0.14% แต่ดัชนี S&P500   ก็ปรับตัวลดลง 0.86 จุด ตามตลาดหุ้นดาวโจนส์ โดยดัชนีปิดที่ 1,939.38 จุด หรือ -0.04%

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ปิดเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.59) ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.2% ปิดที่ 341.61 จุด,ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ปิดที่ 4,392.33 จุด ลดลง 24.69 จุด หรือ -0.56% ,ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมัน ปิดที่ 9,757.88 จุด ลดลง 40.23 จุด หรือ -0.41% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดที่ 6,060.10 จุด ลดลง 23.69 จุด หรือ -0.39%

ทั้งนี้ในช่วงแรกการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ร่วงลงอย่างหนัก โดยดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงไปกว่า 100 จุด เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของภาคการผลิตสหรัฐและจีน โดยสหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนม.ค. ลดลงแตะ 49.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2012 จาก 49.7 ในเดือนธ.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนปรับตัวย่ำแย่ลง
  

ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ยังระบุอีกว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของ ISM เดือนม.ค.อยู่ที่ระดับ 48.2 ซึ่งแม้ว่าขยับขึ้นจากเดือนธ.ค.ที่ระดับ 48 แต่ดัชนี PMI ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และการแข็งค่าของดอลลาร์
  

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงไปกว่า 6% เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่มีการจัดประชุมฉุกเฉิน เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินได้ว่าอิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบจำนวนเท่าใด หลังได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ร่วงลง 2 ดอลลาร์ หรือ 6% ปิดที่ 31.62 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค.ดิ่งลง 1.75 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 34.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
   

แต่ในช่วงท้ายตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวดีขึ้นแม้จะยังคงอยู่ในแดนลบ เนื่องจากนักลงทุนได้เข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี  ขณะที่นักลงทุนจับตาดูข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ โดยในวันพุธ ADP จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐประจำเดือนม.ค. ส่วนในวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ และในวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.

ส่วนตลาดหุ้นยุโรปนอกจากจะได้ัรับแรงกดดันจากปัจจัยลบเช่นเดียวกับตลาดหุ้นนิวยอร์กแล้ว ยังมีปัจจัยลบในเรื่องการชะลอตัวของ
เศรษฐกิจยูโรโซนเอง หลังนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาเตือนว่า ความเสี่ยงในช่วงขาลงที่เศรษฐกิจยุโรปกำลังเผชิญอยู่ได้เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะปั่นป่วนในตลาดเกิดใหม่ โดยประธาน ECB กล่าวว่า ความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ได้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่แน่นอน นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. ซึ่งขณะนั้น ECB ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย และขยายช่วงเวลาในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
               


บันทึกโดย : วันที่ : 02 ก.พ. 2559 เวลา : 11:36:00

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:53 am