- ราคาน้ำมันดิบร่วง หลังก่อนหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 วัน โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (สัญญาเดือน มี.ค.) ปรับตัวลดลงประมาณ 6% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (สัญญาเดือนเม.ย.) ลดลงประมาณ 5% เนื่องจากดัชนีภาคการผลิตจีนยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่ค่อยหนาวเย็นในสหรัฐฯ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของการจัดประชุมเพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบระหว่างกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด
- ดัชนีภาคการผลิตจีน (NBS Manufacturing PMI) เดือนม.ค. ปรับตัวลดลงมาที่ 49.4 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.7 จุด และน้อยกว่าจากการคาดการณ์ของรอยเตอร์ที่ 49.6จุด ซึ่งดัชนีเดือนม.ค.นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2555 และยังนับเป็นการหดตัว (ระดับต่ำกว่า 50 จุด) ของภาคการผลิตเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งส่งสัญญาณว่าผู้ผลิตจีนได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากราคาสินค้าที่ปรับลดลง และกำลังการผลิตที่มากเกินความต้องการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและพลังงาน ส่วนดัชนีภาคการผลิตสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (Caixin PMI) แม้จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนม.ค. เล็กน้อย แต่ยังอยู่ในภาวะหดตัวที่ระดับ 48.4 จุด
- นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังร่วงลงตามราคาหุ้นสหรัฐฯ หลังดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน ม.ค. อยู่ในระดับ 48.2 จุด ซึ่งนับเป็นภาวะหดตัวเป็นดือนที่สี่ติดต่อกัน
- สภาพอากาศในสหรัฐฯ ที่ไม่หนาวนัก ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทำความร้อนลดลง ส่งผลให้ราคาสัญญาน้ำมันดีเซลล่วงหน้าสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงประมาณ 5%
- การหารือเพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกอาจไม่เกิดขึ้น โดยGoldman Sachs ให้ความเห็นว่าโอกาสที่กลุ่มโอเปกและรัสเซียจะร่วมมือกันเพื่อลดกำลังผลิตมีความเป็นไปได้น้อยมากนอกจากนี้นักลงทุนต่างมองว่าอิหร่านคงไม่สมัครใจที่เข้าร่วมในการหารือครั้งนี้
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากราคาปรับลดลงตามราคาสัญญาน้ำมันเบนซินล่วงหน้าสหรัฐฯ (RBOB) ประกอบกับอุปทานน้ำมันเบนซินที่ค่อนข้างสูงในภูมิภาคเอเชีย หลังโรงกลั่นในภูมิภาคนี้ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุง ทั้งยังดำเนินการกลั่นในอัตราสูงหลังค่าการกลั่นอยู่ในระดับดี
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลาง อินเดีย และมาเลเซีย ประกอบแผนการกลับมาดำเนินการของโรงกลั่นในอินเดียภายในวันพุธนี้ หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่อุปสงค์ในภูมิภาคยังคงเบาบาง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประชุมระหว่างรัสเซียและผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกที่อาจจะจัดขึ้นในเดือนหน้าว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังล่าสุดรัสเซียออกมากล่าวว่าจะมีการหารือกับซาอุดิอาระเบียและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มโอเปกเพื่อหาข้อตกลงในการลดกำลังการผลิต
สภาพอากาศที่หนาวเย็นลงทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบเอเชียเหนืออุณหภูมิปรับลดลงอย่างฉับพลัน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนปรับตัวเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดรายงานโดย EIA พบว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 494.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติการณ์
ข่าวเด่น