+ ราคาน้ำมันดิบทั้งเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับพุ่งจากระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังสำนักพิมพ์ The Wall Street Journal (WSJ) รายงานว่ารัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นาย Suhail bin Mohammed al-Mazroui ยืนยัน UAE พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลง แม้ว่าผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกยังเพิ่มปริมาณการผลิตต่อเนื่อง โดยมองว่าการผลิตจากนอกกลุ่มโอเปกจะลดลงราว 800,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งยังให้ความเห็นว่าตลาดน้ำมันจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งภายในปีนี้
+ นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าราคาน้ำมันจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนักแม้เวเนซุเอลล่าและรัสเซียจะมีความพยายามในการหารือเพื่อลดกำลังการผลิต ประกอบกับนักลงทุนยังพากันเข้าซื้อ-ขายทำกำไรก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวในวันจันทร์นี้เนื่องในวันประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดน้ำมันคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้หลายคนยังให้ความเห็นว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในภาวะผันผวนอย่างต่อเนื่อง
+ Baker Hughes รายงานหลุมขุดเจาะในสหรัฐฯ สิ้นสุด 12 ก.พ. 59 ปรับลดลงอีก 28 หลุม แตะระดับต่ำสุดนับแต่ปี 2553 ที่ 541 หลุม (น้ำมัน 439 และแก๊ส 102 หลุม) และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหลังบริษัทขุดเจาะหลายรายมีการปรับลดงบประมาณ โดยบริษัทลงทุนทางการเงินใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Raymond James คาดหลุมขุดเจาะจะลดลงต่อแตะระดับ 500 หลุมในครึ่งปีแรกเนื่องจากราคาน้ำมัน WTI จะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40 เหรียญฯ ก่อนปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในครึ่งปีหลัง เมื่อราคาน้ำมันดีดตัวเพิ่มขึ้นไปเฉลี่ยที่ระดับ 60 เหรียญฯ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยราคาปรับขึ้นตามตลาดน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ด้วย หลังมีโรงกลั่นในสหรัฐฯ หยุดซ่อมบำรุงและลดกำลังผลิตกระทันหัน ขณะที่ในภูมิภาคเองคาดว่าอุปทานอาจตึงตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังมีแรงซื้อจากอินเดียเข้ามาในตลาด ขณะที่อุปทานน้ำมันดีเซลจากไต้หวันคาดว่าจะเข้ามาในตลาดลดลงเนื่องจากโรงกลั่นมีแผนจะปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงเดือน มี.ค. นี้
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 28-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 31-38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการหารือระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกว่าจะได้ข้อสรุปในประเด็นปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบได้หรือไม่ หลังล่าสุดทั้งอิหร่านและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกมาแสดงความพร้อมมากขึ้นที่จะเจรจาในประเด็นดังกล่าว
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 89 ของปริมาณถังน้ำมันทั้งหมด โดยประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลว่าพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำมันดิบ ณ จุดส่งมอบอาจจะไม่เพียงพอ
สถานการณ์ภาวะอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจะเป็นอย่างไร หลัง IEA คาดปีนี้น้ำมันจะยังคงล้นตลาดอยู่ราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวันไตรมาสแรก และกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสสอง หลังผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด
ข่าวเด่น