กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังซื้อกุ้งขนาดใหญ่ อาจได้ตะกั่วแถมยัดใส่หัวกุ้ง ก้ามกุ้ง หากพิษตะกั่วเข้าสู่ร่างกายอาจได้รับพิษเฉียบพลันใน 30 นาที ระยะยาวจะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบโลหิตและระบบประสาท แนะเลือกกุ้งที่สด กุ้งใหญ่ควรเพิ่มความสังเกตของสีและน้ำหนัก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังจากที่มีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าพบการปลอมปนตะกั่วในกุ้งในรูปแบบต่างๆ ทั้งการยัดก้อนตะกั่วในหัวกุ้งและการยัดแท่งหรือแผ่นตะกั่วในก้ามกุ้ง ซึ่งรูปแบบการใส่ตะกั่วจะมีการยัดใส่ตะกั่วเข้าบริเวณปากช่องปากของกุ้ง เมื่อยัดเข้าไปแล้วก็จะดันแท่งตะกั่วเข้าไปสู่ภายในตัวหรือบริเวณหัวกุ้งเพื่อเพิ่มน้ำหนักของกุ้ง ซึ่งหากบริโภคเข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ตะกั่วเป็นธาตุที่มีพิษที่สุดที่ลงไปปะปนในอาหาร เมื่อร่างกายได้รับตะกั่วเข้าไปก็จะเกิดอาการพิษตะกั่ว ซึ่งจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบโลหิตและระบบประสาท อาการระยะเฉียบพลันจะเกิดขึ้นใน 30 นาที โดยจะมีอาการปวดท้อง ท้องผูก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้วิงเวียน น้ำหนักลด อาเจียน คอแห้ง กระหายน้ำ ปวดศีรษะ และนอนไม่หลับ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักสิ่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย มีคำแนะนำสำหรับประชาชนเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ควรเลือกซื้อกุ้งที่สด หัวต้องติดกับตัวแน่น เพราะกุ้งที่ไม่สด หัวหรือส่วนที่เป็นเปลือกส่วนหัวจะไม่ติดกับตัว ไม่มีกลิ่นเหม็นคล้ายแอมโมเนีย เนื้อแข็ง ตาใส เปลือกใส หรือเลือกซื้อจากตลาดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ สำหรับกุ้งขนาดใหญ่ อาจมีการปลอมปนมากที่สุด ควรเพิ่มความสังเกตความผิดปกติของสีและน้ำหนักของตัวกุ้ง ต้องไม่ผิดปกติจากตัวอื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวและก้ามของกุ้ง เนื่องจากเป็นส่วนที่พบการสอดไส้ของตะกั่วอยู่บ่อยครั้ง
ข่าวเด่น