ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ.ศึกษาผลกระทบTPP ต่อสินค้าและบริการด้านสาธารณสุข 7 รายการ


กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี เริ่มต้นที่สินค้าและบริการ 7 รายการ ได้แก่ ภูมิปัญญาไทย สมุนไพร ยา วัคซีน ชีววัตถุและระบบยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง อาหาร ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการค้าบริการสุขภาพ พร้อมเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบด้านสาธารณสุขและระบบสุขภาพของไทยหากเข้าร่วมทีพีพี

 

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านสาธารณสุขในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ครั้งที่ 2/2559 เพื่อติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) ต่อการสาธารณสุขและระบบสุขภาพ และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ศึกษาผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมปรึกษาหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนแต่มีความละเอียดอ่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน

คณะกรรมการนโยบายด้านสาธารณสุขฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของ ทีพีพีต่อการสาธารณสุขและระบบสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นผลกระทบทุกด้านเช่น การเข้าถึงยา ภูมิปัญญาไทย การกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพ อาทิ มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การคุ้มครองการลงทุนและนักลงทุน นโยบายระบบประกันสุขภาพ การยกเว้นของประเทศอื่นๆ วิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างประเทศ เช่น ประเด็นที่ได้ประโยชน์ของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกอาเซียน และมาตรการรองรับผลกระทบด้านสาธารณสุขและระบบสุขภาพของไทยหากเข้าร่วมทีพีพี ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ใช้สินค้าและบริการเป็นจุดเริ่มต้นการวิเคราะห์ทั้งหมด 7 รายการ ได้แก่ 1.ภูมิปัญญาไทย สมุนไพร ยา วัคซีน ชีววัตถุและผลกระทบทางทรัพย์สินทางปัญญาต่อระบบยา 2.เครื่องมือแพทย์ 3.เครื่องสำอาง4.อาหาร 5.ยาสูบ 6.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ7.การค้าบริการสุขภาพ

โดยวิเคราะห์ผลกระทบตามห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของสินค้าและบริการนั้นๆ กำกับด้วยประเด็นจากข้อตกลงและประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกับนโยบาย /กฎเกณฑ์/ กฎระเบียบที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เห็นภาพอย่างเป็นระบบ ก่อนจะนำเสนอรัฐบาลต่อไป สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีมาตรฐานสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน การปฏิรูป การสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น กลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศในอาเซียน 4 ประเทศ คือ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.พ. 2559 เวลา : 11:18:37

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:55 am