ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บิ๊กตู่เปิดประชุมประเทศสมาชิกกลุ่มG-77


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุม “G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals”

 

วันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2559) เวลา 9.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม “G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” ณ ห้องฉัตรา 1 โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ มีสาระสำคัญดังนี้ ในนามของประชาชนชาวไทย นายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับผู้แทนประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 และแขกผู้มีเกียรติสู่ประเทศไทย นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้รับหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ในปี 2559 นี้ ซึ่งเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 มาปฏิบัติ

 

 

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสร่วมกับผู้นำของนานาประเทศรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต่างมีความมุ่งมั่นที่จะเห็นโลกพัฒนาไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ในอีก 15 ปีข้างหน้า ทุกวันนี้ โลกของเรายังคงประสบความท้าทายเร่งด่วนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความหิวโหย ความเหลื่อมล้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม ฝนแล้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ระบบการเงินโลกที่อ่อนไหว การแย่งชิงทรัพยากร ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และแม้แต่การเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ ความขัดแย้ง การสู้รบ ความรุนแรงทางสังคมและการเมือง และการที่ผู้คนจำนวนมากต้องทิ้งบ้านเรือนและประเทศชาติของตน อพยพไปยังสังคมอื่นเพื่อความอยู่รอดและชีวิตที่ดีกว่า ภาพฝันของเราที่อยากให้โลกเป็นในอีก 15ปีข้างหน้า จึงย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

 

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายๆ ประเทศ หากเราไม่ช่วยกัน ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าคนจนในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 57.97 ของประชากรในปี 2533 เหลือร้อยละ 10.53 ในปี 2557 และไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างขึ้นทุกที ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ถูกทำลาย สิ่งแวดล้อมถูกกระทบ เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยมีเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และทำให้เราต้องยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

จุดเปลี่ยนสำคัญของไทยคือ วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งทำให้ไทยตระหนักว่า การพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ตลาดส่งออก ตลาดการเงินโลก โดยไม่สร้างความเข้มแข็งและภูมิต้านทานจากภายใน จะทำให้ประเทศไทยอ่อนไหว อ่อนแอ และถูกกระทบได้ง่าย ในช่วงนั้น ผู้ประกอบการจำนวนมากล้มละลาย คนจำนวนมากตกงาน แต่ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง คนจำนวนมากหวนกลับคืนสู่ชนบทเพื่อปลูกพืช ปลูกผัก เลี้ยงปลา ยังชีพ และพบว่า สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและพอเพียง และไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของความไม่แน่นอนของตลาดโลก ที่กล่าวมานี้ มิได้หมายถึงจะให้เราปิดประเทศหรือไม่เห็นความสำคัญของตลาดโลก และนี่มักจะเป็นข้อที่คนเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคลาดเคลื่อน

 

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้บอกให้เราผลิตหรือบริโภคแบบจำกัด แต่เน้นว่า การจะทำอะไรก็ตามในชีวิต ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ ต้องสมเหตุ สมผล เป็นความพอดีและพอประมาณบนพื้นฐานของเหตุและผลของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานะ ต้องทำอย่างรู้เท่าทันและต้องมีคุณธรรม ไม่ทำให้ตัวเองได้ดีแต่ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อน หรือสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ การพัฒนาจะยั่งยืนได้ต้องมาจากรากฐานของความคิดเช่นนี้ ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ถูกต้อง

 

เริ่มตั้งแต่ในระดับบุคคล ทั้งในเรื่องการบริโภค การผลิต การดำเนินธุรกิจ การพัฒนาการเกษตร และอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงความยั่่งยืน การพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกัน คำนึงว่าเราทุกคน ทุกชีวิต และสิ่งแวดล้อม อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าเดียวกัน และสามารถส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อกันได้ ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลางมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี เพราะคนเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญที่สุด ประชาชนต้องเข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวต้องเข้มแข็ง เมื่อสมาชิกในสังคมเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติก็ย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย

 

ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติมาหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิปี 2547 วิกฤติการเงินโลกปี 2550 ซึ่งแม้ไทยจะประสบกับภาวะวิกฤติ แต่เราจะมีขีดความสามารถในการฟื้นตัวสู่ปกติอย่างรวดเร็ว แขกผู้มีเกียรติคงได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมศึกษาดูงานแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้วเมื่อวานนี้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน และคงเห็นภาพผลสำเร็จของการพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งให้สามารถกลับมาอุดมสมบูรณ์ และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนที่เข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต นอกเหนือจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนแล้ว ยังมีศูนย์การศึกษาการพัฒนาภายใต้พระราชดำริอีก 6 แห่งแบ่งตามภูมิสังคมและภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันไป

 

ประเทศที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพเป็นทะเลทรายสามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาการฟื้นฟูระบบนิเวศที่แห้งแล้งจากศูนย์การศึกษาห้วยทรายได้ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่างได้ ประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะหรือติดชายฝั่งทะเลสามารถศึกษาแนวทางการพัฒนาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนทางภาคตะวันออกของไทย ประเทศที่มีลักษณะเป็นภูเขา ที่ราบสูง สามารถศึกษาแนวทางบริหารจัดการป่าไม้ อนุรักษ์ดินและน้ำ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ซึ่งอยู่ในภาคเหนือของไทย ประเทศที่ประสบปัญหาการชะล้างหน้าดิน ความเสื่อมโทรมของดิน ดินเค็ม ดินเปรี้ยว สามารถศึกษาแนวทางการพัฒนาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานและพิกุลทองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ของไทยได้ การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงมิใช่ “รูปแบบการพัฒนาที่สำเร็จรูป” แต่เป็นแนวทางการพัฒนาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความแตกต่างของสภาพแวดล้อมของแต่ละภูมิประเทศ

 

โดยประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับประเทศต่างๆ มาโดยตลอด ผ่านการให้ทุนการศึกษา การศึกษาดูงาน และโครงการการพัฒนา อาทิ ในประเทศเลโซโท ติมอร์-เลสเต กัมพูชา เมียนมา สปป. ลาว อินโดนิเซีย อัฟกานิสถาน จอร์แดน เซเนกัลและโมซัมบิก เป็นต้น ดังที่จะได้รับฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเสวนาช่วงบ่ายวันนี้

 

ที่กล่าวมานี้ สะท้อนแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า “การระเบิดจากข้างใน” คือ พัฒนาชุมชนให้อยู่รอด พอมีพอกิน เข้มแข็ง และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน รัฐบาลไทยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้มแข็งเริ่มจากในระดับหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรมกว่า 25,000 หมู่บ้าน สร้างวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชน สหกรณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น จัดสรรกองทุนหมู่บ้าน เมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นฐานของประเทศมีความเข้มแข็งแล้ว ก็จะขยายผลในวงกว้างออกไปสู่ระดับจังหวัด ภูมิภาค ทั้งประเทศ จนถึงขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกต่อไป รัฐสามารถจุดประกาย ริเริ่ม สนับสนุนและส่งเสริม แต่ชุมชนต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างคน เพิ่มขีดความสามารถ ให้ยืนได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็งด้วย

 

รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับแนวทาง "ประชารัฐ" เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากและขับเคลื่อนการพัฒนา ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนและประเทศชาติผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ประชาชน และเอกชน ในรูปแบบของหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ ส่งเสริมนวัตกรรมและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนา SME การเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตร โครงการ ๑ ตำบล ๑ SME เกษตร เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อตลาดภายในและภายนอก นโยบายการส่งเสริมธุรกิจเริ่มต้น Thailand Startup เป็นต้น

 

ประเทศไทยเชื่อว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นสากล สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกบริบทและทุกระดับ ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคการเกษตร พื้นที่ชนบท หรือประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้กับประเทศในทุกระดับการพัฒนา ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงิน ชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง จนถึงในการบริหารประเทศ เป็นสิ่งที่ประชาชน นักการเมือง ข้าราชการ เกษตรกร นักธุรกิจ และทุกๆ คน สามารถนำไปใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น

 

การนำการเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ในภาคเกษตรกรรมโดยให้ความสำคัญกับการวางแผนการผลิตให้สามารถรับมือกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน และความผันผวนจากกลไกตลาด การบริหารจัดการความเสี่ยงในภาคธุรกิจและการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ธุรกิจน้ำตาลที่นำของเสียจากการผลิตมาทำแก๊ซชีวภาพ ธุรกิจรีไซเคิล และธุรกิจการทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การเตรียมความพร้อมและรับมือต่อภัยพิบัติโดยมีชุมชนเป็นพื้นฐาน การสร้างสถาบันทางการเมืองและระบบราชการที่มีจริยธรรมและคุณธรรม การกำหนดนโยบายบริหารประเทศที่คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน มีความสมดุล และครอบคลุม

 

ารดำเนินนโยบายทางการเงินการคลังโดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นวิถีชีวิตที่ตั้งอยู่บนความถูกต้อง สมดุล เปรียบเสมือนวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจาก “โรค” ที่เกิดจากความประมาท ความไม่แน่นอน และความเสื่อมโทรม อันสืบเนื่องจากผลกระทบทางลบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

 

ประเทศไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถแบ่งปันตัวอย่างการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ประเทศไทยเห็นว่าการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับหลักคิดของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และจะสามารถเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพราะเป็นการพัฒนาที่สร้างความเจริญ รายได้ และคุณภาพชีวิตประชาชน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยกตัวอย่างเช่น

 

การพัฒนาตามหลักเกษตรทฤษฏีใหม่สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 1 และ 2 เรื่องการขจัดความยากจนและความหิวโหย และสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ การประยุกต์ใช้หลักสูตรการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา ซึ่งส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีการประสานสัมพันธ์กับชุมชนและธรรมชาติ จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 4 ในการสร้างหลักประกันให้การศึกษามีคุณภาพและส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในภาคธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการสร้างภูมิคุ้มกัน พัฒนาและพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของพนักงาน

 

การจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยง การลงทุนและขยายกิจการที่รอบคอบไม่เกินตัว และทำในสิ่งที่ตนถนัดบนพื้นฐานของความรู้ จะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 8 ซึ่งคือการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม หรือในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลมีการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอ. 9999 เพื่อส่งเสริมการทำอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 9 ในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งหลายบริษัทชั้นนำของไทยได้นำไปใช้และประสบผลสำเร็จ

 

นอกจากนี้ หากปัจเจกบุคคล ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่นำหลักความพอประมาณ พอดี มีเหตุผลของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตจะเป็นการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 ในเรื่องการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนด้วย

 

การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มิใช่ของใคร หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกประเทศทั้งประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา เหนือ-ใต้ ต้องร่วมมือกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นอู่ข้าวอู่น้ำและธนาคารอาหารของกันและกันและของโลกแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วก็สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาได้ โดยการเสริมสร้างขีดความสามารถ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้วย ไทยตระหนักดีว่า หลายประเทศมีแนวทางและหลักปรัชญาในการสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นของตนเอง ซึ่งไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 เพื่อแสวงหา “ความเหมือนในความต่าง” ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและโอกาสที่สำคัญในการสนับสนุนกันและกันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีความสุขร่วมกัน

 

นตอนท้ายนายกรัฐมนตรีอวยพรให้การประชุมประสบความสำเร็จ และเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 00 0000 เวลา : 13:30:16

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:20 am